เรื่องของ CODE ที่เราโคต(ร)อยากให้คุณรู้ ตอนที่ 1

ช่วงนี้กระแสของ AP มีมาให้เราได้ยินอย่างไม่ขาดสาย และโมเดลที่มีกระแสมากขึ้นเรื่อยๆก็คือ CODE 11.59 เราอาจจะเห็นเหล่าผู้บริหารและเซเลปต่างๆใส่ CODE กันมากขึ้น (รวมไปถึง CEO สาวคนเก่งของ AP Americas ที่เรานำบทสัมภาษณ์มาให้ทุกท่านได้อ่านในตอนที่แล้ว) ครั้งนี้เราจึงขอนำบทความของ Collector ผู้คร่ำหวอดในวงการนาฬิกาอย่างคุณ Tawn Bunnag ที่เขียนเกี่ยวกับ CODE 11.59 มาแบ่งปันให้กับชาว Crazy Dial มารู้จัก CODE 11.59 กันมากยิ่งขึ้น ซึ่งทาง Crazy Dial ขอขอบคุณคุณ Tawn Bunnag ที่อนุญาตแบ่งปันความรู้มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝

The CODE 11.59 ชื่อนี้สำคัญไฉน?

ชื่อ CODE 11.59 ดูผิวเผินก็นึกว่าชื่อทั่วๆไป (หรืออาจจะเป็นรหัสลับ?) แต่จริงๆแล้วในแต่ละตัวอักษรมีความหมายในตัวเองครับ

 

C = Challenge: Challenge the limits of craftsmanship (ไปให้ไกลกว่างานฝีมือ)

O = Own – Our roots and legacy (ฐานรากและตำนานของ AP)

D = Dare – To follow firm convictions (ยืนหยัดในความเชื่อมั่น)

E = Evolve – Never stand still (ไม่หยุดนิ่ง)

 

11.59 – The last minute before a new day นาทีสุดท้ายก่อนขึ้นวันใหม่ แสดงนัยยะการโอบรับวันใหม่แห่งความหวังที่กำลังจะมาถึง

 

เปิดตัวมาเมื่อไหร่?

CODE นั้นเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2019 ที่งาน SIHH (Saon Internation de la Haute Horlogerie Geneva งานแสดงนาฬิกาที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายใช้เป็นงาน Preview สินค้ารุ่นใหม่ๆ ของตัวเอง) ในปี 2019 CODE เปิดตัวมา 6 โมเดล คือ

  1. Self-Winding
  2. Chronograph
  3. Perpetual Calendar
  4. Self-Winding Tourbillon
  5. Tourbillon Openworked
  6. Supersonnerie (Minute Repeater)

 

โดยใน 6 โมเดลนี้ มีถึง 13 รุ่น (References) ให้เลือก โดยมีขนาด 41 มิล ทั้งหมด โดยการเปิดตัวออกมาทั้ง 6 โมเดลพร้อมๆกันนี้นั้น ก็ไม่ใช่อะไรที่จะพบเห็นได้บ่อยนัก แบรนด์อื่นๆถ้าจะเปิด Collection ใหม่ปกติก็จะเปิดตัว 1- 2 เรือน ไม่ๆ AP ไม่ทำแบบนั้น ความตั้งใจของ AP ที่ปล่อยออกมาถึง 6 โมเดลเพราะต้องการแสดงให้เห็นถึงความพร้อม ความแกร่ง และพันธสัญญาที่แบรนด์มีให้แฟนๆ ว่า AP จะไม่ล้มเลิกในปีเดียวแน่ๆ แม้ว่าจะขายไม่ดีก็เหอะ จึงตั้งใจออกมาหลายรุ่นในทีเดียว นอกจากนี้ AP ใช้เงินทุนและเวลาในการศึกษาวิจัยต่างๆ รวมถึงงานออกแบบ มากกว่า 5 ปี ก่อนที่จะปล่อย CODE ออกมาในปี 2019 อีกด้วย แน่นอนว่าพี่ไม่ได้มาเล่นๆ

 

จุดเริ่มต้น

การมาของ CODE นั้นปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเริ่มมาจากเฮีย François-Henry Bennahmias CEO คนปัจจุบันของ Audemars Piguet เมื่อย้อนกลับไปในปี 2012 ปีที่เฮียเข้ามากุมบังเหียน AP เฮียปิดห้องประชุมร่วมกับทีมงาน 40 คนตอนห้าโมงเย็น โดยล๊อคห้องไม่ให้ไปไหนและบอกกับทุกคนว่า เราจะอยู่ด้วยกันไม่ไปไหนจนกว่าจะคิดเรือนเวลา Chronograph รุ่นใหม่ที่มาพร้อมเครื่องใหม่ สดๆซิงๆ ได้! และในที่สุดตอนสามทุ่มกว่า ทุกๆคนก็ร่วมกันช่วยคิดกลไกที่จะใช้ในเรือนเวลารุ่นใหม่นี้จนสำเร็จ (ไม่แน่ใจว่าด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ หิวข้าว หรือเมียโทรตาม) และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของ CODE ส่วนตัวเคสตามมาภายหลังจากนั้นอีก 3 ปี เฮียยังเล่าเรื่องอดีดที่หอมหวลนี้ต่อว่า ก็แน่แหละการจะรวมทุกๆคนมาอยู่รวมกันมันยากอยู่แล้ว แถมยังจะต้องมาผลักดันให้ทุกคนแสดงศักยภาพแบบทะลุขีดจำกัดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นยิ่งหนักเข้าไปอีก และอยากจะบอกว่า ทุกอย่างที่พูดมานั้นทำบนพื้นฐานของความสุขแห่งการพัฒนาอีกด้วยคร้าบบบ

 

แรงบันดาลใจในการสร้าง CODE ก็คือการหาตัวตนใหม่ๆ ปฎิเสธไม่ได้ว่า AP นั้นยืนอยู่บนความสำเร็จของ Royal Oak มาอย่างยาวนาน จนถึงกับมีเสียงค่อนแคะว่า จริงๆ คือนาฬิกายี่ห้อ Royal Oak รุ่น Audemars Piguet (อุ้ยแรงงงง)

 

แต่ถ้าคุณทำธุรกิจหรือเข้าใจในธุรกิจ คุณจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการที่ธุรกิจหลักๆขององค์กร ยึดติดอยู่กับสินค้าเพียงไม่กี่อย่าง แน่นอนมันจะเสี่ยงมาก และหากท้ายที่สุดแล้วความนิยมในสินค้าเหล่านั้นเริ่มจางหายไป บริษัท องค์กร หรือแบรนด์ก็อาจจะล้มหายตายจากไปด้วยเช่นกัน การที่ยึดติดอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ไม่ Explore หาหนทางหรือสินค้าใหม่มารองรับก็เทียบเท่ากับการขุดหลุมฝังตัวเองทางอ้อม เหมือนคุณมีไข่หลายฟองแต่ดันเอาไปไว้รวมกันในตะกร้าเดียว หากตะกร้าตกไข่ก็อาจแตกทั้งหมด แต่ถ้าคุณกระจายไข่ไปไว้ในตะกร้าหลายๆใบ หากตะกร้าใบหนึ่งหล่นลงก็ยังมีใบอื่นที่บรรจุไข่ให้ใช้จุนเจือต่อไปได้ นี่คือการกระจายความเสี่ยงของการทำธุรกิจ (ส่วนตัวแล้วชอบมาก นี่คือวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ดี เริ่มต้นที่ identify ความเสี่ยงให้ถูกจุด ประเมินความเสี่ยง และหามาตราการที่เหมาะสมมารองรับ อย่างเป็นรูปธรรม)

 

มีอะไรใหม่?

ดีไซน์ใหม่แต่ไม่ทิ้งความเป็น AP ด้วยเคสทรงแปดเหลี่ยม ประกบหน้าด้วยขอบ Bezel สุดบางรวมถึงฝาหลัง งานดีไซน์ที่แสดงให้เห็นถึงการคารวะและเคารพต่อ The Iconic Watch อย่าง Royal Oak โดยที่ขาของนาฬิกาจะยึดอยู่กับ Bezel และที่ฝาหลัง เป็นการตั้งใจออกแบบเพื่อไม่ให้กระทบกับตัวเคสแปดเหลี่ยมตรงกลาง

 

กระจกชิ้นเดียวเล่นโค้งสองระดับ กับพื้นกระจกด้านในทรงโดมและพื้นกระจกด้านนอกเป็นทรงโค้งแนวตรงตั้งแต่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาถึง 12 นาฬิกา ถือเป็น Signature ประจำตัวของ CODE 59 ซึ่งเป็นผลพวงจากการดีไซน์ที่ต้องการให้ขอบ Bezel กินพื้นที่น้อยที่สุด

 

ในโมเดล Self-winding กับ Chronograph มากับเครื่อง in-house ตัวใหม่ อีกโมเดลที่มากับเครื่องใหม่ด้วยก็คือ Flying Tourbillon

 

อีกอันอยากแถมแต่ไม่ใหม่ก็คือ Font ของเลขบนหน้าปัด ซึ่งใช้ Font เดียวกับรุ่นกลไก Minute Repeater ในช่วงปี 1940

 

คำวิจารณ์ในด้านลบ

CODE นั้นเปิดตัวมาพร้อมกับเสียงวิจารณ์ในด้านลบที่เรียกได้ว่ายับเลยทีเดียว ทำไมถึงยับ เพราะพี่ไม่ได้รีด? ไม่ใช่ครับ เสียงวิจารณ์ในด้านลบนั้นบ้างบอกว่า Design มันไม่ใช่, ไม่สวย, หาเอกลักษณ์ตัวเองไม่เจอ ตกลงจะ Sport หรือ Dress กันแน่, นี่มันไม่ใช่การปฎิวัติตัวเองแล้ว มันหายนะชัดๆ (ว่าไปนั่น), งานออกแบบอันแสนขี้เกียจ, ขนาด 41 มิลทั้งหมดเลยเนี่ยนะ, AP บอกว่า ชายหญิงใส่ได้หมด แต่ไซส์ 41 ไม่เหมาะกับผู้หญิงมั้ง, แบรนด์ระดับตำนานอย่าง AP ทำได้แค่เนี้ย???

 

เสียงวิจารณ์นี้ดังมากใน Internet โดยเฉพาะ Social Media ดังจนไปเข้าหูเฮีย François จนต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่า แหม่… ถ้าในปี 1972 มี Social Media ผมอยากรู้จริงๆ ว่าเสียงวิจารณ์ต่อ Royal Oak จะเป็นงัยบ้างหนอ ถ้าตอนนั้นมี Social Media ล่ะก็ Royal Oak ไม่น่าจะเรียกว่ายับ น่าจะเรียกว่ายี้เลย (ประโยคหลังๆ นี่ผมเพิ่มเอาเองนะครับ 555)

 

ถึงแม้จะโดนวิจารณ์ยับ แต่ในมุมกลับก็มีคนชื่นชอบอยู่ไม่น้อย เอาจริงๆก็มากเลยแหละ โดยหลายๆคนรวมถึงสื่อหลายสำนักก็เห็นถึงข้อดีต่างๆ ของ CODE ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งเป็นการดีที่ได้รังสรรค์สิ่งใหม่ให้กับวงการด้วย ไม่ใช่เอาแต่เปลี่ยนแค่ Dial หรือ Bezel แล้วตีกินอย่างเดียว บางสื่อกลับวิจารณ์นักเลงคียบอร์ดทั้งหลายด้วยว่า ก่อนที่จะด่าว่าเค้าเสียๆหายๆ คุณเห็นตัวจริงและรายละเอียดที่ปรากฎอยู่ในตัว CODE หรือยัง บางทีการดูเพียงแค่รูปจาก Internet นั้นอาจจะยังไม่มากพอที่จะทำให้คุณสัมผัสได้กับการมีอยู่ในรายละเอียดและงานศิลป์บน CODE 59

 

สรุป ยังงัยดี?

การที่ CEO ออกมาบ่นนั้นไม่ใช่เป็นการบ่นไปเรื่อยนะครับ มันมีนัยแอบแผงอยู่ คือถ้าเราทราบประวัติของทั้ง Royal Oak แล้วก็ Offshore กันอยู่แล้ว ก็จะเข้าใจ เพราะ Iconic ทั้งสองรุ่นนี้นั้น ตอนที่ออกมาใหม่ๆ ก็โดนต่อต้านและวิจารณ์ โดยสื่อต่างๆในขณะนั้น อย่าง Royal Oak ในปี 1974 นั้นก็โดนวิจารณ์ว่าเป็นนาฬิกา oversize ไม่สวย ใช้เหล็กเป็นวัสดุแต่ดันแพง บ้าปล่าว แล้วตอนนี้เป็นงัย? อีกรอบที่โดนวิจารณ์ยับคือในปี 1993 ที่ปล่อย Offshore ออกมา ยับหนักหมือนกัน ใหญ่เว่อร์ เทอะทะ น่าเกลียดอย่างกับอสูรกาย จนเป็นที่มาของ the Beast แล้วตอนนี้เป็นงัย (อีกครั้ง)

 

การปล่อย CODE ออกมาก็เป็นอีกครั้งที่โดนวิจารณ์ยับ แต่ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า CODE จะเดินตามรอยรุ่นพี่ได้ ทั้งสองรุ่นนั้นเองก็ต้องการเวลาในการพิสูจน์ตัวเองเหมือนกัน ส่วนตัวผมเองจากที่จับตาดู CODE มาตลอด APให้ความสนใจและใส่ใจในรุ่นนี้อย่างจริงจัง เห็นได้จากการพัฒนาต่อยอด Collection ใหม่ในแต่ละปี โดยเฉพาะปีล่าสุดที่ได้เคส Ceramic ด้วย คงไม่ได้มาเล่นๆแล้วแหละครับ แบบนี้ ตรงกับคำพูดและพันธสัญญาที่เฮีย François ได้ให้ไว้จริงๆ

 

และนี่ก็เป็นตอนแรกเกี่ยวกับ CODE 11.59 ที่เราเอามาแบ่งปันให้กับชาว Crazy Dial ได้อ่านกัน อดใจรออ่านตอนที่ 2 กันต่อนะครับ


ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของแวดวงนาฬิกาได้ที่นี่…

Crazy Dial – The Watch Community

Line : @crazydial

Instagram : crazydial.official

Facebook : crazydial.official

Website : www.crazy-dial.com

Youtube : Crazy Dial Official

Tiktok : crazydial