มือสองของหรู โอกาสที่ไม่ง่าย

เข้าเรื่องเน้นๆ กันแบบไม่อ้อมค้อม ในประเด็น ‘โอกาสการสร้างกำไรของนาฬิกาลักชัวรีพรีโอน’ ขอเรียนตรงๆ ว่าชั่วโมงนี้ไม่ง่าย เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกยังอยู่ในช่วงถดถอยอย่างที่เห็น ดังนั้นชาวนาฬิกาสายลงทุน ต้องคอยอัพเดตข้อมูลให้พร้อมอยู่เสมอ โอกาสมาถึงเมื่อไรก็แค่ลงสนามเป็นผู้เล่นเพื่อ ‘Play to Win’ ให้ได้เท่านั้น

╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝

ภาพรวม

ภาพรวมตลาดสินค้าหรูมือสองยังถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ และกำลังขยายตัวต่อไปในอนาคตได้ โดยที่สินค้านาฬิกามีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดที่ 75 เปอร์เซ็นต์ และจิวเวลลีอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ความน่าสนใจคือ ยอดขายแบบออฟไลน์ยังคงครองส่วนแบ่งกำไรมากกว่า แม้ว่าช่องทางออนไลน์จะเติบโตขึ้นอย่างแข็งขัน เข้าสู่กลุ่ม Key Player แนวคลาสสิก (ไม่ได้สัมผัสของจริง ไม่ซื้อ) พร้อมแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปบ้างแล้วก็ตามที ขณะที่ทวีปยุโรปคือกลุ่มลูกค้าอันดับหนึ่งของตลาดนี้

 

การขยายตัว

สำหรับทิศทางการขยายตัวเกิดจากหลากหลายสาเหตุ เช่น การเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายออนไลน์ ความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค และความยั่งยืนด้านการลงทุน ที่ผ่านมาแนวโน้มเหล่านี้ดำเนินไปด้วยดี โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุน้อย ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนด้านการเงินสูงขึ้น

 

เหตุนี้เองส่งผลให้ผู้ซื้อทุกกลุ่มหันมาพิจารณาถึงความต้องการซื้อสินค้าหรูมือสอง ในแง่การเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของการลงทุนที่น่าสนใจ เมื่อมองถึงราคาที่ดึงดูดใจ โดยเฉพาะเรื่องมูลค่าที่ลดลงทันทีหลังออกจากช็อป นอกจากนี้สภาวะตลาดที่แข็งแกร่งยังส่งผลดีต่อสภาพคล่องในการซื้อและจำหน่ายอีกด้วย

 

อีกปัจจัยสำคัญในการขยายตัวของตลาด คือ ช่องทางโซเชียลมีเดียและโลกดิจิทัล เนื่องจากสามารถมอบการเข้าถึงบริการส่วนบุคคลระดับพรีเมียมได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางให้แบรนด์สร้างอัตลักษณ์ บอกเล่าประวัติศาสตร์แก่ผู้บริโภคได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกันกับร้านค้าปลีกที่จะช่วยส่งเสริมงานด้านการขาย การรังสรรค์อีเวนต์สุดหรูรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการนำเสนอสินค้าเฉพาะทาง ไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากกว่าในอดีต

 

ความต้องการของผู้บริโภค

นับเป็นความเฟื่องฟูที่สวนทางกับเศรษฐกิจโลกขาลงอย่างชัดเจน จากการสำรวจของ BCG (Boston Consulting Group) ร่วมกับ Altagamma (สมาคมผู้ผลิตสินค้าหรูของประเทศอิตาลี สำรวจกลุ่มผู้บริโภคสินค้าหรูหรามากกว่า 12,000 ราย) ในปี 2020 พบว่าผู้บริโภค 62 เปอร์เซ็นต์จะพิจารณาซื้อสินค้ามือสอง และ 25 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าพวกเขาทำการซื้อไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่ง 18 เปอร์เซ็นต์เป็นการซื้อนาฬิกาและจิวเวลลี

 

ผลสำรวจยังพบอีกว่า ผู้บริโภคของหรูมือสองมีสัดส่วนเอียงไปทางผู้ชายเล็กน้อย (55 เปอร์เซ็นต์) และมีแนวโน้มอายุน้อย (ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียล และกลุ่มคน Gen Z) นั่นสะท้อนชัดถึงความชอบอันโดดเด่นของพวกเขาที่มีต่อแบรนด์ นอกจากนี้ยังให้ความสนใจในการไล่ล่าหาสินค้า เพื่อต่อรองราคา และปิดดีลมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน เน้นการสร้างผลกำไรจากราคาขายต่อ มากกว่ากลุ่มผู้บริโภครุ่นก่อนๆ

 

ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังคาดหวังว่าแบรนด์หรูและร้านค้าอาจเข้ามาร่วมแจมในการขายสินค้ามือสองด้วย เนื่องจากงานวิจัยดังกล่าวเผยว่า มีผู้บริโภคถึง 70 เปอร์เซ็นต์ทีเดียวที่ต้องการซื้อสินค้ามือสองจากแบรนด์หรูโดยตรง และอีก 74 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้แบรนด์รับรองสินค้ามือสองที่ขายผ่านตัวแทนจำหน่าย เห็นได้ชัดว่าพวกเขาคาดหวังถึงเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และบริการระหว่างการซื้อ ผลดีจึงตกอยู่กับแบรนด์ที่สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ในอนาคต แน่นอนที่สุดผลที่ตามมาก็คือ ความเฟื่องฟูในตลาดของหรูมือสองเช่นกัน

 

โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดอันรวดเร็ว

ดูเหมือนว่ามีผู้จำหน่ายจำนวนมากกำลังตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ในตลาดสินค้าหรูหรามือสองขณะนี้ แต่ละบริษัทมีการวางตำแหน่งตัวเองอยู่ในสองมิติอย่างชัดเจน นั่นคือ ระดับความเชี่ยวชาญ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยแบ่งตลาดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. สินค้าที่ไม่เคยถูกสวมใส่ (ตามปกติคือสินค้าจากซีซันที่แล้ว) และพรีโอนอายุไม่เกิน 10 ปี
  2. สินค้าวินเทจ อายุระหว่าง 10-30 ปี
  3. Iconic Item สินค้าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี

ตัวอย่างเช่น eBay และ Amazon ที่เน้นจำหน่ายสินค้าที่ไม่เคยถูกสวมใส่ ตรงกันข้ามกับ Harrods ที่ได้พัฒนาการเสนอขายสินค้ามือสอง โฟกัสไปยังสินค้าพรีโอนเป็นหลัก ในทำนองเดียวกัน Cartier เองก็ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์มือสองที่โดดเด่นเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับโปรดักต์ใหม่ๆ ในธุรกิจเครื่องประดับระดับไฮเอนด์

 

อย่างไรก็ตามแพลตฟอร์ม E-Commerce รายใหญ่ทั้ง eBay และ Amazon ยังขาดเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ‘ความหรูหราที่แท้จริง’ เนื่องจากไม่มีการรับประกันสินค้าให้กับผู้ซื้อ โดยเฉพาะกรณีสินค้าคุณภาพต่ำ และบางชิ้นเป็นงานก็อประดับอัลตรามิลเลอร์ 

 

นี่จึงเป็นโอกาสให้เแบรนด์ใหญ่ๆ ลงมาเล่นในสนาม ‘ตลาดของหรูมือสอง’ ด้วยตัวเอง พร้อมกับความสามารถในการจัดการที่ดี การเข้าถึงสินค้า และรูปแบบ E-Commerce ผ่านองค์ประกอบของความหรูหราที่แท้จริง การันตีได้ว่าผู้ซื้อจะได้รับของแท้แบบสภาพตรงปก และด้วยความสบายใจไร้กังวล


ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของแวดวงนาฬิกาได้ที่นี่…

Crazy Dial – The Watch Community

Line : @crazydial

Instagram : crazydial.official

Facebook : crazydial.official

Website : www.crazy-dial.com

Youtube : Crazy Dial Official

Tiktok : crazydial