เจาะลึก 5 นาฬิกาควอตซ์สุดหรู ควรค่าลงทุนยาวๆ ไหม?

แม้นาฬิกาควอตซ์จะไม่นิยมในหมู่นักสะสมเท่าไหร่นัก แต่สำหรับบางรุ่นก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป มีนาฬิกาควอตซ์หลายรุ่นที่ครบพร้อม ทั้งในแง่ของรูปลักษณ์ ศักยภาพ และความแม่นยำ หากคุณต้องการนาฬิกาเรือนพิเศษสักเรือน Crazy Dial ขอยก 5 เรือนนี้ที่คุณควรพิจารณา ไม่แน่นะ เผื่อวันหนึ่ง คุณอยากเทรดไป ก็ไม่เจ็บตัว แถมยังได้ราคาอีกต่างหาก

╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝

 1. FP Journe Élégante

FP Journe Élégante หนึ่งในนาฬิกาควอตซ์ระดับไฮเอนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของนาฬิกาควอตซ์ ซึ่ง François-Paul Journe แล้ว เขาตั้งใจรังสรรค์ศิลปะแห่งการทำนาฬิกา พร้อมแก้ไขข้อบกพร่องอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของปัญหาอายุการใช้งานแบตเตอรี่ ที่มีข้อจำกัดสำหรับนาฬิกาควอตช์

 

กลไกควอตช์ Caliber 1210 ของ FP Journe Élégante มีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ยาวนานถึง 18 ปี สิ่งนี้สำเร็จขึ้นได้โดยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวบนหน้าปัดนาฬิกา ที่รับรู้ว่านาฬิกากำลังใช้งานอยู่หรือไม่ หากนาฬิกาไม่เดินเป็นเวลา 35 นาที จะเข้าสู่โหมด sleep เพื่อประหยัดพลังงาน ขณะที่ไมโครโปรเซสเซอร์จะทำหน้าที่สั่งการให้นาฬิกาทำงานต่อไป ดังนั้นเมื่อคุณหยิบนาฬิกาขึ้นมาอีกครั้ง เข็มนาฬิกาจะรีเซ็ตเป็นเวลาปัจจุบันโดยอัตโนมัติ ความดีงามเหล่านี้ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ตัวเรือนขนาด 40 x 48 มม. มาพร้อมหน้าปัดแซฟไฟร์เรืองแสงสุดหรูหรา

 

ราคาเริ่มต้นของ Élégante อยู่ที่ประมาณ 455,000 บาท สำหรับในบางรุ่นที่เป็นตัวท็อป ราคาไต่ระดับไปถึง 1,880,000 บาท ซึ่งในปีหน้านี้ 2023 ก็ไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง

 

 2. IWC Ingenieur SL Quartz Ref.3303

ไม่เอ่ยถึงก็คงเป็นไปไม่ได้ กับ Gérald Genta ผู้ที่รังสรรค์นาฬิกาสปอร์ตหรูหราทันสมัย 3 รุ่นอันโด่งดัง อันได้แก่ Audemars Piguet Royal Oak ในปี 1972 ตามมาด้วย Patek Philippe Nautilus และ IWC Ingenieur ในปี 1976 โดยที่ IWC Ingenieur SL Quartz Ref.3303 เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ด้วยตัวเรือนแบบเดียวกับรุ่นกลไก แต่ระบบขับเคลื่อนภายในเป็นควอตช์แบบเต็มสูบ กระทั่งในปี 1980 Ingenieur ทำการอัปเดตเวอร์ชั่นควอตช์อีกครั้งในรุ่น Caliber 2250 ที่ตัวเรือนบางลง

 

จากการเปลี่ยนแปลงส่งผลไปถึงตัวเรือนและหน้าปัด ซึ่งตัวแบรนด์ก็สามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม นักออกแบบยังคงเชื่อมโยงดีไซน์จากอัตลักษณ์ของ Genta ได้อย่างลงตัว ผลลัพธ์ที่ได้คือความสวยงามเรียบง่ายบริสุทธ์ ความลงตัวของการผสมผสานแห่งยุคสมัย เกิดเป็นความโดดเด่นเฉพาะตัว ทำให้มูลค่าการเล่นหาสะสมมีราคาสูงขึ้น

 

คาดการณ์กันไว้ว่าในช่วงปลายปี 2022 เชื่อมโยงไปถึงไตรมาสแรกของปี 2023 ราคาของ IWC Ingenieur SL Quartz Ref.3303 จะแตะระดับอยู่ที่ 470,000 – 700,000 บาท และมีความเป็นไปได้ที่ราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

 

 3. Girard-Perregaux Laureato

ตัวเรือนคลาสสิกที่มาพร้อมกับระบบควอตช์ ซึ่งหากคุณพอจะมีพื้นความรู้เรื่องนาฬิกามาบ้าง คงเคยได้ยินชื่อ Girard-Perregaux Laureato ที่ได้ยลโฉมครั้งแรกเมื่อปี 1978 และทราบดีว่านาฬิการุ่นนี้ได้รับความนิยมมากที่สุด ในคอลเลกชั่นปัจจุบันของแบรนด์ และเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ชอบสไตล์ของ Audemars Piguet Royal Oak, Patek Philippe Nautilus หรือ Vacheron Constantin Overseas แต่ไม่อยากจ่ายเงินก้อนโตจนเกินไป

 

Girard-Perregaux Laureato เปิดตัวในรุ่นทูโทนทองและสตีล โดยมีหน้าปัดสีขาวพร้อมลวดลาย Clous de Paris รุ่นออริจินัล ขับเคลื่อนด้วย Caliber 705 ควอตซ์ที่ได้รับการรับรองโดยบริษัทโครโนมิเตอร์ การผสมผสานระหว่างทองและสตีลเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงเวลานั้น Laureato ประสบความสำเร็จในเรื่องของยอดขาย เปิดตัวหล่อตั้งแต่เริ่มต้น

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความรู้สึกชื่นชอบใน Laureato รุ่นออริจินัลภายใต้ระบบควอตช์ตื่นตัวขึ้นอีกครั้ง การค้นหา Laureato ดั้งเดิมเป็นเรื่องไม่ง่ายเนื่องจากเป็นชิ้นงานที่หายาก แต่ถ้าคุณโชคดีสามารถหามาไว้ในครอบครอง ราคารีเซลล์ประมาณ 72,000 บาท แนวโน้มที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม เมื่อเวลาผ่านไป

 

 4. Rolex Oysterquartz

เรื่องราวของควอตช์ภายใต้ร่มเงาของ Rolex เกิดขึ้นในปี 1977 Rolex เปิดตัวระบบควอตช์ไล่เรี่ยกัน 2 รุ่น ได้แก่ Oysterquartz Datejust Caliber 5035 และ Oysterquartz Day-Date ที่ขับเคลื่อนด้วยกลไก Quartz Caliber 5055 ทั้งคู่โดดเด่นด้วยตัวเรือนขนาด 36 มม. ในมาดของ Rolex ที่มองปราดเดียวก็จดจำได้ทันที โดยในกลุ่ม Rolex Oysterquartz โลดแล่นเฉิดฉายยาวนานกว่า 25 ปี ผลิตนาฬิกาทั้งสิ้นกว่า 25,000 เรือน ก่อนจะหยุดไลน์การผลิตในปี 2000

 

Rolex Oysterquartz มีชื่อเสียงสุดๆ ในของคอลเลกชั่น Datejust ที่มีให้เลือกทั้งแบบสเตนเลสสตีล ในแบบทูโทนและ Yellow Gold แต่คุณอาจจะประหลาดใจเกี่ยวกับเรื่องของราคา หากพิจารณาลงไปในรุ่นของ Day-Date สีทองคำและทองคำขาว ซึ่งเปิดราคาเริ่มต้นไว้ที่ประมาณ 420,000 บาท และขยับขึ้นอีกระดับในราคา 1,050,000 บาท สำหรับรุ่นที่หายากกว่า

 

ในส่วนของ Datejust ทูโทนหน้าปัดสีทอง ที่คุณสามารถเป็นเจ้าของได้ในช่วงราคาระหว่าง 180,000 – 350,000 บาท นับเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลงทุนในกลุ่มนาฬิกาควอตช์

 

 5. Cartier Tank Must de Cartier

ในปีเดียวกันกับที่ Rolex เปิดตัว Oysterquartz ทางด้านของ Cartier ก็เปิดตัว Must de Cartier Tank สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึง Cartier Tank รุ่นดั้งเดิมเมื่อ 60 ปีก่อน Tank Must มาพร้อมกลไกควอตช์ที่เรียบง่าย ตัวเรือนสีเงินกำมะหยี่ ตั้งราคาขายไว้แบบที่ใครๆ ก็เอื้อมถึง ผู้ซื้อสามารถเลือกสีหน้าปัดได้หลากหลายตามใจชอบ แต่สีหลักของการเปิดตัวในเวลานั้นคือ หน้าปัดสีดำธรรมดา หน้าปัดสีน้ำเงิน และสีแดง

 

อาจเป็นเพราะ Cartier นำรุ่น Tank Must สีสันสดใสกลับมาใช้อีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว และได้การตอบรับอย่างน่าชื่นใจจากกลุ่มลูกค้าทั้งหน้าเก่าและใหม่ ส่งผลให้ Tank Must รุ่นออริจินัลจากปี 1970 หน้าปัดสีน้ำเงินและสีแดง กลายเป็นที่ต้องการอย่างมากไปด้วยเช่นกัน

 

คุณต้องจ่ายประมาณ 52,500 – 70,000 บาท เพื่อครอบครองหนึ่งในนาฬิการุ่นสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อพิจารณาถึงกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ Cartier Tank Must มั่นใจได้เลยว่าเมื่อเวลาผ่านพ้นไป ราคาซื้อเข้าที่คุณจ่ายไป จะให้ผลต่างตอบแทน ที่สามารถสร้างรอยยิ้มให้กับคุณได้อย่างแน่นอน

 

ในช่วงสิ้นปี 2022 เชื่อมต่อปีใหม่ 2023 หากมีโอกาสได้ซื้อและมีนาฬิกาเหล่านี้ไว้ในครอบครอง เชื่อเถอะว่าคุณจะมีนาฬิกาที่น่าทึ่ง สำหรับไว้สวมใส่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง พร้อมกันกับเมื่อเวลาผ่านไปในระยะยาว คุณก็จะสามารถพิจารณาตัวเลขราคาเทรดที่น่าพึงพอใจได้อย่างสบายๆ

 


ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของแวดวงนาฬิกาได้ที่นี่…

Crazy Dial – The Watch Community

Line : @crazydial

Instagram : crazydial.official

Facebook : crazydial.official

Website : www.crazy-dial.com

Youtube : Crazy Dial Official

Tiktok : crazydial