Rolex Daytona นาฬิกาโครโนกราฟอันเป็นเอกลักษณ์ของนักแข่งรถที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ต้องการของนักสะสมมากที่สุด จากจุดเริ่มในแถวสองค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาแซงหน้าจนกลายเป็นตำนาน Crazy Dial รวบรวมเรื่องราวของนาฬิกา Daytona ที่โด่งดังมานำเสนอ เป็นข้อมูลความรู้ แบบคนรักนาฬิกาควรรู้ ตามกันมาเลยครับ
╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝
จุดเริ่มต้นของ Daytona
เมื่อแรกเริ่ม ทั้งชื่อ ‘Cosmograph’ และ ‘Daytona’ ยังไม่ปรากฏเป็นข้อเลือก แม้ว่า Rolex จะทำการจดทะเบียนชื่อมาตั้งแต่ปี 1953 แล้วก็ตาม บนหน้าปัดของ ref.6234 ที่ออกแบบผลิตระหว่างปี 1955-1961 กระทั่งต้นทศวรรษ 1960s จะตั้งราคาไว้ที่ราว 200 ดอลลาร์ ยังมีตัวอักษรเรียบๆ ของ ‘Chronograph’ ให้เห็น ต่อปีมีนาฬิกาถูกส่งออกจากโรงงานของ Rolex ราว 500 เรือน แต่ยอดขายไม่สู้ดีนัก เนื่องจากแบรนด์อื่นเขาผลิตนาฬิกาโครโนกราฟกันมานานแล้ว ทุกวันนี้ นาฬิการุ่นที่เรียกว่า Pre-Daytona เรือนสเตนเลสสตีล เข็มบอกเวลาสีเงินและสีดำ กลับกลายเป็นของหายากและเป็นที่ปรารถนา ราคาในยุโรปอยู่ที่ราว 20,000 ยูโรเลยทีเดียว
ที่มาของชื่อ Daytona
บริเวณชายหาดเดย์โทนา ในรัฐฟลอริดา มีมหกรรมการแข่งรถจัดกันมานับตั้งแต่ปี 1903 และสร้างสถิติความเร็วใหม่กันทุกปี นักแข่งชื่อ Sir Malcom Campbell เป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จที่สุด และสามารถทำลายสถิติโลกได้บ่อยครั้ง หลังจาก Henry Segrave คู่แข่งคนสำคัญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางเรือ ช่วงทศวรรษ 1930s Campbell เจ้าของสถิติโลกชาวอังกฤษสวมนาฬิกา Rolex ทั้งในชีวิตประจำวันและในสนามแข่ง มีคำยืนยันจากเขาเป็นโทรเลขที่ส่งถึงบริษัท Rolex ในปี 1935 “เมื่อวานสวมนาฬิกา Rolex ระหว่างลองทำสถิติใหม่ มันยังคงทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม แม้เป็นงานหนัก” สนามแข่งขันเดย์โทนาในเวลาต่อมาเป็นรูปวงรียาว มีเส้นทางโค้งงอเล็กน้อย เป็นถนนเลียบชายหาดครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งใช้พื้นที่ของพรมเมอนาด กระทั่งปี 1959 สนามแข่งได้เปลี่ยนเป็นถนนแอสฟัลต์ และเปิดใหม่เป็น Daytona International Speedway ซึ่งเป็นสนามที่เร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น และเป็นหนึ่งใน ‘ซูเปอร์สปีด’ แห่งแรกของโลก Rolex เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1962 และในปีถัดมาก็มีนาฬิกา Cosmograph ref. 6239 ปรากฏออกมา ในปีเดียวกันนั้น Rolex จึงได้ตั้งชื่อ ‘Daytona’ เพื่อเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงของตนเองกับการแข่งรถที่ทรงเกียรติ และเพราะ Rolex Daytona ถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อนักแข่งรถโดยเฉพาะ น้ำหนักความน่าเชื่อถือจึงมีมากกว่าแบรนด์อื่น อักษร Daytona ปรากฏอยู่บนหน้าปัดนาฬิกาในช่วงสอง-สามปีแรก และเฉพาะบางรุ่นที่ผลิตขึ้นเพื่อตลาดในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หลังจากนั้นอักษร Daytona ค่อยๆ มีปรากฏอยู่บนหน้าปัดนาฬิการุ่นนี้ทุกเรือน ตัวอักษรสีแดงเรียงกันเป็นรูปครึ่งวงกลม เหนือ Tachymeter ตรงตำแหน่ง 6 นาฬิกา
เหตุการณ์สำคัญของ Rolex Daytona
Daytona ยังคงใช้เลขอ้างอิง (Reference) สี่หลัก (ตั้งแต่ Ref. 6239, 6240, 6241, 6262, 6264, 6263, 6265) ต่อเนื่องมาพร้อมกับตำนาน และยังคงใช้เครื่องขึ้นลานด้วยมือที่ปรับแต่งมาจากเครื่องในกลุ่ม Valjoux Caliber 72 เป็นหลัก ซึ่งถือเป็นกลไกจับเวลาสามวงมาตรฐานที่นิยมกันในยุคทศวรรษ 1960s-1970s เหตุผลเพราะมีความทนทานเป็นพิเศษ Daytona ref. 6240 ที่ Rolex เปิดตัวในปี 1965 มีการเปลี่ยนมาใช้ตัวผลักสกรู ทำให้ปิดผนึกนาฬิกาอย่างแน่นหนามากขึ้น เหมือนกับนาฬิการุ่น Oyster เพียงแต่ไม่มีฟังก์ชันหยุด และมีการระบุการกันน้ำที่เพิ่มขึ้นบนหน้าปัด มีการจารึกคำว่า Oyster เสริมคำ Cosmograph นอกจากนั้นยังทำ Bezel สีดำจากอะคริลิกเรซิน ที่แปลก และมีการผลิตเฉพาะปี 1970 เท่านั้นคือ Daytona ref. 6262 ซึ่งทาง Rolex ย้อนกลับไปผลิต Bezel เหล็กแบบไม่มีสกรู อีกทั้งยังเพิ่มความถี่ของเครื่องขึ้นลาน Valjoux Caliber จาก 18,000 เป็น 21,600 ต่อชั่วโมง Daytona ref. 6264 จากปี 1970-1972 มีการผลิตตรงข้ามกับ ref. 6262 ตรงที่กลับไปใช้อะคริลิกเรซินเป็น Bezel และปุ่มกดแบบเกลียวเหมือนเก่า Daytona ref. 6263 และ 6265 จากปี 1971-1988 เป็นรุ่นสุดท้ายที่ผลิตด้วยฝีมือคนงาน ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นนาฬิกาที่มีคุณค่าเป็นพิเศษ เพราะในปี 2013 สำนักประมูลคริสตีส์ ได้นำนาฬิกาเรือนหนึ่งจากรุ่นนี้ออกประมูลได้ในราคาสูงเกือบถึงหนึ่งล้านฟรังก์สวิส นับว่าสูงมากเป็นประวัติการณ์
Daytona เข้าสู่ยุคออโตเมติก
ช่วงทศวรรษ 1970s จนถึงกลางทศวรรษ 1980s เกิดวิกฤตนาฬิกาควอตซ์ขึ้น ส่งผลกระทบไปทั่ววงการ Rolex เองก็ประสบกับปัญหา แต่ก็ยังทนสู้ ยอมให้มีการพัฒนา Daytona เป็นนาฬิกาไขลานอัตโนมัติ แต่งานนี้ Rolex ไม่ได้ผลิตสำเร็จด้วยตัวเอง หากต้องพึ่งพา Zenith ที่เคยพัฒนา El Primero ออกมาจนสำเร็จเมื่อปี 1969 ‘Zenith’ Daytona ref. 16520 ปรากฏออกมาพร้อมเปิดตัวในงานบาเซลเวิลด์ในปี 1988 เป็นนาฬิกาที่ใช้กลไก Caliber 4030 ของ El Primero ซึ่งรูปทรงและขนาดพอดี ไม่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเรือน Oyster ของตนเองมากจนเกินไป รุ่นนี้เป็นรุ่นใหม่ที่ Rolex ได้ใบรับรอง COSC-Chronometer และบนหน้าปัดไม่เพียงแต่มี ‘Oyster Perpetual Cosmograph Daytona’ ปรากฏอยู่เท่านั้น หากยังมี ‘Superlative Chronometer Officially Certified’ อีกด้วย จากนั้นนาฬิการุ่นนี้ก็ค่อยๆ กลายเป็นความคลาสสิกของ Rolex เมื่อเวลาผ่านล่วงเข้าสหัสวรรษใหม่ Rolex นาฬิกา Daytona เปลี่ยนมาใช้ Caliber 4130 กลไกการไขลานอัตโนมัติที่พัฒนาและผลิตขึ้นโดย Rolex เอง มีอัญมณี 44 ชิ้น พลังงานสำรอง 72 ชั่วโมง และระบบป้องกันการกระแทกแบบโรตารี Kif เพื่อความสมดุลของการทำงาน คลัตช์แนวตั้งช่วยให้เข็มวินาทีหยุดและเริ่มต้นใหม่ได้อย่างราบรื่น ส่วนฟังก์ชันโครโนกราฟนั้นถูกควบคุมโดยล้อเฟือง เมื่อปี 2016 Rolex เปิดตัว Cosmograph Daytona ref. 116500 รุ่นใหม่ล่าสุดที่งานบาเซลเวิลด์ มีความน่าสนใจที่ตัวเรือน Oyster ขนาด 40 มิลลิเมตร ผิวหน้าปัดสีขาว-ดำทำจาก 940L สเตนเลสสตีล ซึ่งเป็นโลหะที่มีความยืดหยุ่นและทนทานต่อการขัดเงา คริสตัลแซฟไฟร์ที่มีความทนทานและคุณสมบัติกันรอยขีดข่วน พร้อมกับ Screw-Down-Crown Triplock ที่ช่วยทำให้มั่นใจได้ว่า เทคโนโลยีทันสมัยภายในจะได้รับการปกป้องความเสียหายจากน้ำและอุณหภูมิที่แปรปรวน การเดินทางของ Daytona นับว่ายาวนานและยาวไกล ผ่านอุปสรรคและความสำเร็จมาจนกลายเป็นตำนาน และกลายเป็นชื่อที่รู้จัก ได้รับการยอมรับจากคนรักนาฬิกา…มาจนถึงปัจจุบัน
Crazy Dial มีเป้าหมายที่จะเป็น Creative StoryTelling สื่อเน้นการเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างสังคมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อมูลนาฬิกา สร้างแรงบรรดาลใจให้กับคนที่ชื่นชอบนาฬิกามือใหม่ รวมถึงนักสะสมนาฬิกามือเก่า ขอบคุณที่มาเป็นส่วนนึง และร่วมแบ่งบันประสบการณ์ไปพร้อมๆกัน กับ Crazy Dial