นาฬิกา Rolex Daytona เรือนที่เคยอยู่ในความครอบครองของพอล นิวแมนถูกประมูลเมื่อปี 2017 ด้วยราคาที่สูงจนกลายเป็นสถิติใหม่ที่ 17.7 ล้านดอลลาร์ ส่วนนาฬิกา Patek Philippe Grandmaster Chime (Ref. 6300A) ที่ผลิตขึ้นเพียงเรือนเดียวในโลกเพื่อฉลองครบรอบ 175 ปีของแบรนด์ ราคาประมูลอยู่ที่ 31 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 940 ล้านบาท ก็ได้รับการบันทึกเป็นสถิติของโลกเช่นกัน
╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝
และยังมีสถิติระดับโลกอื่นๆ อีกที่ได้รับการบันทึกไว้ในจักรวาลของนาฬิกา Crazy Dial หยิบยกมาแนะนำ 5 เรือนที่มีลักษณะและคุณสมบัติโดดเด่นกว่าใคร จนได้รับการบันทึกเป็นสถิติของโลก
World Record #1: นาฬิกากลไกไขลานเรือนบางที่สุดในโลก
นั่นคือ Altiplano Ultimate Concept ของ Piaget ที่เปิดตัวเป็นนาฬิกาคอนเซ็ปต์ในงาน SIHH 2018 ด้วยความบางเพียง 2 มิลลิเมตร และในปี 2020 นี้โมเดลซีรีส์ก็จะทยอยผลิตออกสู่ตลาด
ผู้ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ประกาศใช้สิทธิบัตรห้าข้อสำหรับความสามารถในการพัฒนาระบบกลไกคาลิเบอร์ 900P-UC ขึ้นใหม่ ออกแบบผสานโครงสร้างของกลไกและตัวเรือนเป็นชิ้นเดียว และออกแบบเม็ดมะยมให้กลมกลืนไปกับตัวเรือนและกระจกที่บางเฉียบ
มีการปรับโครงสร้างตัวเรือนเพื่อให้ฝาหลังทำหน้าที่เป็นฐานรองรับกลไกไปในตัว ใช้วัสดุใหม่อย่างโคบอลต์ผสมอัลลอยด์ที่ถูกพัฒนาให้แข็งแรงและทนทานกว่าทองคำ เพื่อไม่ให้ตัวเรือนโค้งงอแม้จะมีความบาง รวมทั้งชิ้นส่วนอื่นๆ ก็ถูกปรับให้รับกับความบางของตัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นจักร (Wheels) ด้วยความหนาเพียง 0.12 มิลลิเมตร กระจกหน้าปัดถูกทอนความหนาออกไปจากปกติเหลือเพียง 0.2 มิลลิเมตร มีการออกแบบกระปุกลาน (Mainspring Barrel) ใหม่ติดตั้งไว้กับ Ball Bearing ที่เชื่อมไว้กับเฟรมของนาฬิกา ทำให้กลไกมีกำลังลานสำรองนานถึง 40 ชั่วโมง และเม็ดมะยมระบบ Telescopic ที่ออกแบบให้แบนราบระดับเดียวกับตัวเรือน ทำงานร่วมกับ Infinite Screw แทนเม็ดมะยมแบบดั้งเดิม มีผลให้การปกป้องเม็ดมะยม และระบบป้องกันการหยุดชะงักของกลไกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในความเฉียบบางของ Altiplano Ultimate Concept นั้นมีชิ้นส่วนซุกซ่อนไว้ถึง 167 ชิ้น และเกือบทั้งหมดนั้นถูกปรับขนาดลงเพื่อสร้างสถิติความบางจนสำเร็จ ใครสนใจความบางของนาฬิการะดับสถิติโลกเรือนนี้ Piaget แจ้งราคามาว่าอยู่ที่ 417,000 ยูโร หรือเกือบ 15 ล้านบาท
World Record #2: นาฬิกากลไกไขลานเรือนเล็กที่สุดในโลก
นาฬิกากลไกไขลาน Jaeger-LeCoultre Caliber 101 ไม่เพียงแต่เป็นนาฬิกาเมคานิกเรือนเล็กที่สุดในโลกเท่านั้น หากยังครองสถิตินี้ได้ยาวนานที่สุดในโลกด้วย มันถูกพัฒนาขึ้นในปี 1929 ประกอบด้วยชิ้นส่วน 98 ชิ้นที่มีน้ำหนักรวมกันราว 1 กรัม และตัวเรือนมีขนาด 14.0 x 4.8 x 3.4 มิลลิเมตร
Jaeger-LeCoultre ยังผลิตนาฬิกากลไกไขลานนี้มาตราบถึงปัจจุบัน แต่เพราะส่วนประกอบแต่ละชิ้นจะต้องผลิตด้วยมือ และปรับเปลี่ยนเพื่อประกอบตัวเรือน Caliber 101 จึงต้องผลิตครั้งเดียวต่อเรือน และต้องใช้ความประณีต รวมทั้งเวลา ฉะนั้นจำนวนการผลิตต่อปีจำกัดอยู่เลขสองหลักเท่านั้น แม้จะไม่ใช่ Limited Edition ก็ตาม
และอาจเพราะเหตุผลนี้เอง ทำให้ Jaeger-LeCoultre ได้ชื่อเป็นมือหนึ่งด้านนาฬิกาเครื่องประดับเพชร
World Record #3: นาฬิกาตูร์บิยองเรือนเล็กที่สุดในตลาด
นาฬิกากลไกตูร์บิยองที่ได้ชื่อว่าเรือนเล็กที่สุดเป็นของ Bvlgari เป็นนาฬิกากลไกไขลานคาลิเบอร์ Serpenti Seduttori Tourbillon BVL150 รูปลักษณ์คล้ายหัวงู ขนาดของตัวเรือน 34 มิลลิเมตร ความหนาเพียง 3.65 มิลลิเมตร และเป็นนาฬิกาสำหรับสุภาพสตรีที่ผลิตสายข้อมือสามแบบ ทั้งโรสโกลด์ หรือทองคำขาวฝังเพชร, สายหนังหรือทองคำขาวฝังเพชร และแบบกำไลเพชรเต็ม
เรือนที่ย่อมเยาที่สุดเป็นแบบโรสโกลด์ ราคา 86,200 ยูโร หรือราว 3 ล้านบาท
World Record #4: นาฬิกาโครโนกราฟเรือนบางที่สุดในโลก
แบรนด์ Bvlgari คว้าสถิติโลกอีกครั้งในปี 2019 เมื่อเปิดตัว Octo Finissimo Chronograph GMT Automatic หน้าปัดดีไซน์ทรงแปดเหลี่ยมขนาด 42 มิลลิเมตร แม้ว่าการติดตั้งกลไกอัตโนมัติที่มีทั้งโมดูลโครโนกราฟและ GMT ในตัวเรือนที่มีความหนาเพียง 6.9 มิลลิเมตรเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ Bvlgari ก็สามารถทำสำเร็จอีกครั้ง หลังจากเคยทำกับกลไกตูร์บิยองและ Minute Repeater สำเร็จมาแล้ว ภายในตัวเรือนบอบบางนั้นบรรจุกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟชุดใหม่ คาลิเบอร์ BVL 318 ที่มีความหนา 3.3 มิลลิเมตร และมีลักษณะพิเศษคือ ใช้โรเตอร์ซึ่งผลิตจากแพลตินัมแบบวงแหวนทำการหมุนอยู่รอบนอก เพื่อลดทอนความหนาของตัวเครื่อง แต่สามารถสำรองพลังงานได้ถึง 55 ชั่วโมง
ที่สำคัญ Bvlgari เผยรูปแบบของเครื่องที่มีลักษณะพิเศษผ่านทางฝาหลังที่ผนึกด้วยแผ่นคริสตัลแซฟไฟร์ กลายเป็นจุดเด่นเพิ่มเติม ในราคา 17,400 ยูโร หรือราว 6 แสนบาท
World Record #5: นาฬิกาดำน้ำลึกที่สุดในโลก
ระหว่างวันที่ 28 เมษายนถึง 5 พฤษภาคม 2019 Victor Vescovo-อดีตทหารเรือและนักวิจัยทางทะเล อายุ 53 ปีได้ทดสอบดำน้ำลงไปในจุดที่ลึกที่สุดของร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา ในจุดที่มีชื่อเรียกว่า ‘Challenger Deep’ ถึงสี่ครั้ง และสามารถทำสถิติความลึกได้ถึง 10,928 เมตร ทำลายสถิติเดิมที่ Don Walsh-หน่วยนาวิกโยธินของสหรัฐฯ และ Jacques Piccard-นักวิจัยชาวสวิส เคยทำไว้ที่ 10,912 เมตรเมื่อปี 1960
ที่ยานบังคับใต้น้ำ DSV Limiting Factor ของเวสโคโวมีตัวอย่างนาฬิกาคอนเซ็ปต์ Omega Seamaster Planet Ocean Ultra Deep Professional ตัวเรือนผลิตจากเศษของเปลือกไทเทเนียมที่เหลือจากงานสร้างเรือดำน้ำ กระจกครอบเป็นวัสดุ Liquidmetal ของ Omega เองที่มีคุณสมบัติยึดแน่นแต่มีความยืดหยุ่น และสามารถลดทอนความหนาให้เหลือไม่เกิน 28 มิลลิเมตรได้มากกว่าใช้กระจกแซฟไฟร์
Omega ยังต้องวิเคราะห์คุณสมบัติของ Seamaster Planet Ocean Ultra Deep Professional อย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะผลิตนาฬิกาคอนเซ็ปต์นี้ออกมาเป็นโมเดลซีรีส์ในอนาคต
Crazy Dial มีเป้าหมายที่จะเป็น Creative StoryTelling สื่อเน้นการเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างสังคมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อมูลนาฬิกา สร้างแรงบรรดาลใจให้กับคนที่ชื่นชอบนาฬิกามือใหม่ รวมถึงนักสะสมนาฬิกามือเก่า ขอบคุณที่มาเป็นส่วนนึง และร่วมแบ่งบันประสบการณ์ไปพร้อมๆกัน กับ Crazy Dial