สำหรับใครที่คุ้นเคยกับนาฬิกา คงพอจะรับรู้ว่า ระบบของนาฬิกาที่ใช้กันอยู่นี้มี 4 ระบบ ตั้งแต่ระบบไขลานหรือ Manual ซึ่งเป็นระบบการผลิตนาฬิกาในยุคแรกเริ่ม, ระบบอัตโนมัติ ที่เครื่องทำงานโยการหมุนขึ้นลานด้วยตัวเอง, ระบบกลไกไฟฟ้าโบราณ เป็นระบบที่มีตัวทรานซิสเตอร์ และแบตเตอรีขนาดจิ๋วช่วยในการทำงานของนาฬิกา จนถึงระบบควอตซ์ ที่เป็นระบบการผลิตนาฬิกาในยุคดิจิตอล และมีความเที่ยงตรงเป็นที่ยอมรับ
╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝
และระบบควอตซ์ ที่ได้รับการคิดค้นขึ้นเป็นนวัตกรรมสำหรับการผลิตนาฬิกานี่เอง ได้กลายเป็นอุปสรรคที่ค่อนข้างหนักหน่วงให้แวดวงนาฬิกา โดยเฉพาะกับนาฬิกาหรู แบรนด์ดังต่างๆ ของสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี
Crazy Dial นำเสนอเรื่องราวจากอดีตที่เกิดขึ้นในแวดวงนาฬิกา เชื่อว่าคุณน่าจะสนใจไม่แพ้กับเรื่องราวของนาฬิกาแบรนด์หรือรุ่นที่คุณชื่นชอบ…
จุดเปลี่ยนของวงการนาฬิกามาถึง เมื่อมีการคิดค้นและผลิตนาฬิกาควอตซ์ หรือนาฬิกาแบบใส่ถ่าน ขึ้นมาบุกตลาดนาฬิกากลไก
ซีรีส์นาฬิกาควอตซ์ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อต้นทศวรรษ 1930s แต่ตอนนั้นมันยังมีราคาแพงเกินไป และเป็นนาฬิกาอ้างอิงที่มีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับห้องปฏิบัติการหรืออุตสาหกรรม จนต่อมาได้มีการทดลองและพัฒนากันอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1940s และ 1950s กระทั่งกลายมาเป็นคลื่นใหญ่ที่กระทบอุตสาหกรรมนาฬิกากลไกในช่วง 10-20 ปีถัดจากนั้น โดยเฉพาะตลาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
เวลานั้น เรียกได้ว่าวงการนาฬิกากลไกถูกท้าทายครั้งใหญ่ แม้กระทั่งแบรนด์ชื่อดังและแข็งแกร่งอย่าง Patek Philippe, Audermars Piguet หรือ Rolex ก็ต้องปรับตัวเอง หันมาพัฒนาและผลิตนาฬิกาควอตซ์ตามออกมาเช่นกัน และมีหลายแบรนด์ที่ต้องซุ่มเก็บตัวเงียบ ไม่ยอมปรับตัวตามกระแส หรือบางแบรนด์ก็หายสาบสูญไปกับคลื่นที่โถมมากระทบ
เป้าหมายหลักของการคิดค้นนาฬิกาควอตซ์คือ เพื่อปรับปรุงความแม่นยำ ที่นาฬิกากลไกพยายามปรับมาเป็นเวลานาน และการคิดค้นก็บรรลุเป้าหมาย นาฬิกาควอตซ์ปรับเวลาตัวเองโดยเฉลี่ยเพียง 12 วินาทีเท่านั้นในระยะเวลาหนึ่งปี การผลิตคิดค้นในปี 1970 นั้นได้สร้างสถิติใหม่ขึ้นมา โดยมีแบตเตอรีในเครื่องนาฬิกาช่วยให้มันเดินได้โดยไม่ต้องไขลาน
การหลั่งไหลเข้าไปในตลาดของนาฬิกาควอตซ์ทำให้มันกลายเป็นสินค้าแมสส์ และคนมีความสนใจในนาฬิกากลไกน้อยลง สินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทในญี่ปุ่นบุกเข้าครองตลาด จากเดิมที่อุตสาหกรรมนาฬิกาของสวิสเคยครองตลาดอยู่ราว 50 เปอร์เซ็นต์ และใช้แรงงานกว่า 90,000 คน นับจากปี 1970 จนถึงปี 1988 หรือ 18 ปีถัดจากนั้นแรงงานได้หดหายไปจากอุตสาหกรรมนาฬิกา เหลืออยู่เพียง 28,000 คน บริษัทนาฬิกาแต่เดิมมีอยู่ราว 1,600 บริษัท ก็เหลืออยู่เพียง 600 บริษัทเท่านั้น
ในสหรัฐอเมริกายุคก่อนวิกฤตเคยมีบริษัทผลิตนาฬิกากลไกที่ประสบความสำเร็จอยู่หลายแห่ง แต่สุดท้ายก็เหลือรอดอยู่เพียงรายเดียวคือแบรนด์ Timex ส่วนญี่ปุ่นที่เป็นหัวหอกนำนาฬิกาควอตซ์บุกตลาดนั้น แม้แต่แบรนด์ของญี่ปุ่นก็ประสบกับปัญหา บริษัทผลิตนาฬิกาควอตซ์ที่ครองตลาดมากที่สุดในเวลานั้นได้แก่ Seiko แต่แบรนด์ที่ผลิตนาฬิกากลไกอย่าง Grand-Seiko เองต้องประสบภาวะขาดทุน จนต้องปิดตัวไปในปี 1975
วิกฤตนาฬิกาควอตซ์ก่อวิกฤตให้กับหลายบริษัทก็จริง แต่เมื่อถึงช่วงปลายทศวรรษ 1980s เข้าสู่ 1990s แล้ว ก็เริ่มมีบริษัทเก่าแก่ที่ผลิตนาฬิกากลไกกลับเข้ามาผงาดในตลาดนาฬิกาอีกครั้ง เหตุผลเบื้องหลังคือ ผู้ซื้อหันกลับมาชื่นชมความน่าเชื่อถือของนาฬิกากลไกอีกครั้ง อีกอย่าง นาฬิกาควอตซ์ที่เกลื่อนตลาดนั้นกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจหรือตื่นตาตื่นใจอีกต่อไป
ใครคนไหนสวมใส่นาฬิกากลไกที่ข้อมือจะเป็นที่น่าจับตามองมากกว่า มันสะท้อนให้เห็นถึงสไตล์และรสนิยมมากกว่านาฬิกาควอตซ์ ยิ่งไปกว่านั้น นักสะสมนาฬิกายังให้ความสำคัญกับนาฬิกากลไกมากกว่าด้วย ความเที่ยงตรง แม่นยำ คุณภาพ และการผลิตที่ประณีตด้วยช่างฝีมือถูกนำมาเป็นจุดขายอีกครั้ง ไม่ว่าแบรนด์ดังอย่าง Blancpain, Chronoswiss หรือ Rolex ล้วนสามารถก้าวข้ามวิกฤต กลับมาสร้างชื่อได้ใหม่
ทุกวันนี้ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาหรูจะไม่สนใจเทคโนโลยีควอตซ์เลย และในกลุ่มผู้รู้จักนาฬิกาเองก็มองว่ามันเป็น ‘สินค้าราคาถูก’ ใครก็ตามที่เคยครอบครองนาฬิกากลไกจากยุคก่อนวิกฤตนาฬิกาควอตซ์นับว่าโชคดี ที่นาฬิกาเหล่านั้นกลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ตลาดนาฬิกาควอตซ์และนาฬิกากลไกเริ่มกลับมาสู่สภาวะสงบนิ่งแล้ว แต่เป็นการรอสัญญาณเตือนครั้งใหม่ จากเสียงข่มขู่ของสมาร์ทวอตช์ นาฬิกาข้อมือที่ใช้ระบบคล้ายกันกับคอมพิวเตอร์ ใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ สามารถส่ง SMS หรือโทรศัพท์ได้คล้ายมือถือ กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็กวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม อนาคตของนาฬิกาควอตซ์ นาฬิกาอัตโนมัติ หรือนาฬิกากลไกก็ยังมีความแน่นอนอยู่ หลังจากที่ตลาดปรับตัวอีกครั้ง ปลายทางข้างหน้าของนาฬิการะบบเก่าก็ยังไม่มืดมน
ตราบใดที่คนยังเชื่อมั่นและไว้ใจในคุณภาพ ความเที่ยงตรง และชื่อเสียงของแบรนด์ที่ล้วนมีมายาวนาน
Crazy Dial มีเป้าหมายที่จะเป็น Creative StoryTelling สื่อเน้นการเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างสังคมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อมูลนาฬิกา สร้างแรงบรรดาลใจให้กับคนที่ชื่นชอบนาฬิกามือใหม่ รวมถึงนักสะสมนาฬิกามือเก่า ขอบคุณที่มาเป็นส่วนนึง และร่วมแบ่งบันประสบการณ์ไปพร้อมๆกัน กับ Crazy Dial