Crazy Dial มักกล่าวถึงเสมอว่า คิดจะสอยนาฬิกาแพง ต้องรู้รอบ เข้าใจลึก ถึงจะเป็นเซียนเหนือกาลเวลาได้ ดังนั้นอย่ามองผ่านเรื่องระบบกลไกและฟังก์ชันต่างๆ หากคุณแม่นยำและลึกซึ้งเหนือใครแล้ว สิ่งนี้จะมาพร้อมโอกาสในจังหวะการเลือกซื้อ เก็บ หรือขาย เพราะบางครั้งในโลกแห่งการแข่งขัน มักเชือดเฉือนกันด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้เอง
╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝
ระบบควอตซ์ (Quartz)
ถ้ารุ่นใหญ่เน้นสายกลไก อาจมองต่ำร้องยี้ เพราะตราหน้าว่าเป็นระบบการเคลื่อนที่โลว์คลาส ด้อยเทคนิคเชิงวิศวกรรม และความประณีตในการผลิตที่สุด แต่อีกด้านหนึ่งระบบ Quartz คือความเที่ยงตรง แม่นยำ ดูแลง่าย อาศัยพลังงานแบตเตอรี่เป็นตัวขับเคลื่อน แสดงผลทั้งแบบเข็มและดิจิทัล จึงสะดวกสบายต่อการสวมใส่ ไม่ต้องคอยเสียเวลาไขเม็ดมะยม หรือปรับวันที่ให้เมื่อยมือเหมือนระบบอื่น
Tips: เกณฑ์มาตรฐานระบบ Quartz นาฬิกาสวิสยังคงเหนือกว่าใคร ทั้งในด้านพลังงาน และความเที่ยงตรง
ระบบออโตเมติก (Automatic)
ระบบ Automatic หรือถูกเรียกบ่อยๆ ว่า Self-Winding เป็นรูปแบบนาฬิกาไขลานอัตโนมัติ ที่อาศัยแรงเหวี่ยงจากข้อมือตามธรรมชาติ เพื่อให้ตัวโรเตอร์ (Rotor) เก็บสะสมพลังงานเข้าไปใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการขึ้นลานอยู่ตลอดเวลา ระบบนี้ได้รับความนิยมมากทีเดียว เนื่องจากผู้ใช้ไม่ต้องคอยกังวลกับการไขลานทุกวัน ตราบเท่าที่ตัวเรือนถูกสวมใส่เป็นประจำ
Tips: ปกติมักจะได้ยินเสียงโรเตอร์ทำงานเป็นเสียงกิ๊กเบาๆ
ฟังก์ชันโคโนกราฟ (Chronograph)
ฟังก์ชันโคโนกราฟ คือ นาฬิกาแบบจับเวลาได้ นอกเหนือการแสดงเวลามาตรฐาน รูปแบบโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ประกอบด้วย 3 หน้าปัดย่อยสำหรับจับวินาที นาที และชั่วโมง ส่วนตำแหน่งก็ขึ้นอยู่กับงานดีไซน์ขอบแบรนด์ผู้ผลิต และส่วนใหญ่ตัวขอบหน้าปัดมักแสดงสเกลมาตราวัดความเร็วแบบ Tachymeter ที่ใช้หน่วยเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยการอ่านค่าจากเข็มจับเวลาวินาทีของหน้าปัดใหญ่ ในการจับเวลาเมื่อเข็มวินาทีหยุดอยู่ตรงตำแหน่งใด ให้อ่านค่า Tachymeter ตรงตำแหน่งนั้น ตัวอย่างเช่น หากคุณกดปุ่มจับเวลาข้างตัวเรือน ตั้งแต่เริ่มขับรถไปจนครบหนึ่งกิโล แล้วกดปุ่มหยุดจับเวลา เข็มวินาทีหยุดที่เลข 4 นั่นคือเดินทางไปแล้ว 20 วินาที ตัวเลข Tachymeter ตรงขอบหน้าปัดเท่ากับ 180 กิโลเมตร หมายถึงคุณกำลังขับรถด้วยความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ขับเร็วเกินไปไหม) เป็นต้น
Tips: สามารถปรับใช้โคโนกราฟกับการวัดระยะทาง และกำลังการผลิตต่อชั่วโมงได้
ฟังก์ชันปฏิทินรายปี (Annual Calendar)
ฟังก์ชันแปลตรงตามชื่อ นั่นคือการนำระบบประมวลแสดงผลปฏิทินรายปี มาใส่ในฟันเฟืองที่ถูกออกแบบมาอย่างดีของนาฬิกา ทำให้สามารถคำนวณวันสิ้นเดือนระหว่าง 30 และ 31 วันของแต่ละเดือนที่ต่างกันได้อย่างถูกต้อง แม่นยำแบบอัตโนมัติ ข้อเสียคือระบบนี้ต้องมีการรีเซ็ตใหม่ 1 ครั้งต่อปี ทุกๆ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์
Tips: ในอดีตฟังก์ชันปฏิทินรายปีถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับนาฬิกาตั้งโต๊ะเท่านั้น
ฟังก์ชันปฏิทินถาวร (Perpetual Calendar)
ผลผลิตจากการคำนวณอย่างแม่นยำทางดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ ต่อยอดความรู้จากฟังก์ชันปฏิทินรายปี นอกจากจะไม่ต้องรีเซ็ตใหม่ปีละครั้งทุกๆ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ฟังก์ชันปฏิทินถาวรยังฉลาดพอที่จะปรับเปลี่ยนจำนวนวันสิ้นเดือนที่ต่างกันทั้ง 30 และ 31 หรือ 28 และ 29 แสดงข้างขึ้น ข้างแรม รวมถึงความสามารถในการปรับปี Leap Year (ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน) อย่างอัตโนมัติ
Tips: การรีเซ็ตใหม่ของฟังก์ชันปฏิทินถาวรอยู่ที่ปี 2100 และเจ้าแห่งฟังก์ชัน Perpetual Calendar คือ Patek Philippe
ฟังก์ชันแสดงเวลา 2 โซน (Dual Time)
สำหรับฟังก์ชันแสดงเวลา 2 โซน จะมีหน้าปัดย่อย แสดงช่วงเวลาเดียวกันของอีกหนึ่งไทม์โซนภายในตัวเรือน ที่มีทั้งแบบเป็นชั่วโมง และนาที (แต่มักเห็นแบบเป็นชั่วโมงมากกว่า) ภายใต้กรอบเวลา 12 ชั่วโมง พร้อมระบุช่วงเวลากลางวันและกลางคืน A.M. และ P.M. และผู้ใช้ฟังก์ชันนี้ส่วนใหญ่ มักนิยมปรับหน้าปัดหลักแสดงเวลา Local Time และใช้หน้าปัดย่อยแสดงเวลา Home Time เพื่อป้องกันการสับสน
Tips: มีความแตกต่างกันพอควรระหว่างฟังก์ชัน Dual Time และฟังก์ชัน GMT ทั้งเรื่องกรอบเวลา 24 ชั่วโมง และคุณอาจต้องใช้หลักคณิตศาสตร์เข้ามาช่วยนิดหน่อย เพื่อบวกลบเวลาตามมาตรฐานกรีนิช
ฟังก์ชันเวิลด์ ไทม์ (World Time)
อีกหนึ่งสุดยอดนวัตกรรมการสร้างสรรค์นาฬิกาหรู ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่สามารถแสดงเวลาของเมืองสำคัญต่างๆ ภายใต้ 24 เขตไทม์โซนทั่วโลกได้ หน้าปัดภายในตัวเรือนประกอบด้วยวงล้อหมุน แสดงชื่อตัวเมือง 24 เมืองต่างไทม์โซน วงล้อหมุนแสดงค่าชั่วโมง 1-24 หมุนในทิศทางวนตามเข็มนาฬิกา สำหรับปรับเวลา Local Time หน้าปัดหลักปรับเวลา Home Time เลือกได้ทั้งแบบ A.M. และ P.M. และหน้าปัดย่อยปรับวันที่
Tips: เหมาะเหลือเกินสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลกอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว และแน่นอนที่สุด บรรดานักบินและลูกเรือทั้งหลาย
Crazy Dial มีเป้าหมายที่จะเป็น Creative StoryTelling สื่อเน้นการเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างสังคมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อมูลนาฬิกา สร้างแรงบรรดาลใจให้กับคนที่ชื่นชอบนาฬิกามือใหม่ รวมถึงนักสะสมนาฬิกามือเก่า ขอบคุณที่มาเป็นส่วนนึง และร่วมแบ่งบันประสบการณ์ไปพร้อมๆกัน กับ Crazy Dial