เหตุนาฬิกาสวิสยืนหนึ่งเหนือตลาดสุดหรู

ข่าวจากหลายสำนัก ยันชัด ณ โมงยามนี้ แบรนด์นาฬิกาหรูอยู่ในช่วงขาลง Crazy Dial ไม่ตกใจเท่าไร ด้วยปัญหาหนักๆ ของโลก ย่อมส่งผลเป็นธรรมดา ประเทศผู้ผลิตเองยังเฉยๆ เพราะความจริงแล้ว อุตสาหกรรมนาฬิกาหรูสวิส กำลังมีเรื่องให้น่ากังวลใจมากกว่าราคาตก (ชั่วคราว) อย่างที่เป็นอยู่

╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝

ในภาพใหญ่ มูลค่าการส่งออกนาฬิกาสวิส เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปีตามข้อมูลจาก dataExternal ที่รวบรวมโดยสหพันธ์อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส (FH) โดยความต้องการหลักของกลุ่มตลาดไฮเอนด์ อยู่ที่นาฬิกาหรูราคาเรือนละมากกว่า 7,500 ฟรังก์สวิส หรือราว 280,000 บาทขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 3 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออก และยังคงทรงตัวมาจากต้นปีอยู่ที่ +2.3 เปอร์เซ็นต์

 

กระทั่งเกิดสงคราม น้ำมันแพง เงินเฟ้อ หุ้นตก คริปโตฯ ร่วง สะเก็ดจางๆ จากโรคระบาด ทำให้กำลังซื้อหด จึงลดมาเบาๆ อย่างที่เห็นเป็นข่าว อย่างไรก็ตามเหตุการณ์เหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรนัก หากเทียบข้อมูลการส่งออกระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม เมื่อปี 2564 ซึ่งถือเป็นปีสถิติส่งออกสูงสุดกับปีปัจจุบัน พบว่ามูลค่ารวมยังคงเพิ่มขึ้นเกือบ 13% อยู่ดี

 

จากข้อมูล ชี้ชัดว่านาฬิกาแดนดินถิ่นสวิส ยังยืนหนึ่งเหนือตลาดสุดหรู พร้อมดีมานด์สูงแบบไม่มีแผ่ว ถึงขนาดที่ Olivier Müller ที่ปรึกษาด้านการผลิตนาฬิกาของ LuxeConsult กล่าวว่า “ความคลั่งไคล้ในนาฬิการะดับหรูแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน” ระหว่างการอภิปรายเกี่ยวกับอนาคตของการผลิตนาฬิกาที่งานแสดงสินค้าระดับชาติ EPHJ – The World of High Precision ณ กรุงเจนีวา เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

ทว่าข่าวดีนี้ กำลังสร้างปัญหาหนักอก ให้กับภาพอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสโดยรวม

 

ปัญหาการเก็งกำไรที่มากเกินไป

“ในแง่ดี คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มหันมาสนใจนาฬิกาหรู Swiss Made
แต่อีกด้านหนึ่ง ทำให้การเก็งกำไรเกิดขึ้นมากเกินไป เนื่องจากบางคนต้องการซื้อโดยมีเป้าหมายเพื่อมาทำกำไรในตลาดรองเพียงอย่างเดียว เรื่องนี้สร้างความหงุดหงิดใจ ให้กับกลุ่มที่ต้องการหาซื้อนาฬิกามาสวมใส่อย่างแท้จริง

 

โดยการเก็งกำไรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบิ๊กโฟร์ ได้แก่ Rolex, Patek Philippe, Audemars Piguet และ Richard Mille คิดเป็นผลกำไรเกินครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมทั้งหมดทีเดียว” Müller กล่าว

 

ปัญหาการผูกขาดและความหลากหลาย

ทว่าอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาไม่อาจเติบโตได้ด้วยการขายนาฬิกาหรูเพียงอย่างเดียว Müller กล่าวต่อ

 

“แบรนด์และบริษัทที่มีความสามารถทางการเงิน อย่าง Rolex หรือ Swatch Group
มีแนวโน้มที่สดใส ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ได้ลงทุนทั้งด้านเครื่องมือและจ้างบริษัทย่อยผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องกลไกหรือส่วนประกอบโดยตรง ทำให้แบรนด์ควบคุมการผลิตในแต่ละรุ่นได้ดีขึ้น

 

ขณะที่การขาดแคลนบริษัทย่อยผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องกลไกหรือส่วนประกอบ กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบริษัทขนาดเล็ก เนื่องจากพวกเขาต้องดิ้นรนในการหาซัพพลายเออร์อิสระ”

 

หนึ่งความเห็นน่าสนใจจากงานนี้ มาจาก Svend Andersen ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันผู้ผลิตนาฬิกาอิสระ (Académie Horlogère des Créateurs Indépendants, AHCI) เปิดเผยว่า

 

“อุตสาหกรรมที่เข้มแข็งนั้นดีสำหรับทุกคน รวมถึงผู้ผลิตนาฬิกาอิสระที่ผลิตนาฬิกาจำนวนไม่ถึงโหลต่อปี หากรถยนต์เริ่มมีลักษณะเหมือนกันมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนจำนวนมากต่างเริ่มต้องการขับรถพิเศษกว่าใครเช่นกัน นาฬิกาก็เหมือนกันทุกประการ เราจำเป็นต้องตอบสนองความต้องการจากนักสะสมที่มองหาบางสิ่งที่โดดเด่นออกจากฝูงชนทั่วไป”

 

ปัญหาความกังวลใจเหล่านี้จะถูกแก้ไขอย่างไร คงต้องตามกันต่อไป เพียงเรื่องเดียวพิสูจน์ทราบชัด คือ ตลาดนาฬิกาหรูสวิสยังดูดีมีอนาคต เพราะขนาดปัญหาโลกบีบจนหัวจะปวดขนาดนี้ ความต้องการจากลูกค้ายังไม่แผ่วลงไปเลย แล้วหากสถานการณ์ปกติเมื่อไร คิดในแง่ดีเอาไว้ ก็ไม่เห็นเสียหายอะไรนี่ครับ

 


ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของแวดวงนาฬิกาได้ที่นี่…

Crazy Dial – The Watch Community

Line : @crazydial

Instagram : crazydial.official

Facebook : crazydial.official

Website : www.crazy-dial.com

Youtube : Crazy Dial Official

Tiktok : crazydial