10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับนาฬิกา OMEGA

Omega แบรนด์นาฬิกาหนึ่งในจำนวนไม่กี่แบรนด์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก มากมายไปด้วยเรื่องราวทั้งด้านประวัติศาสตร์การก่อเกิด การประดิษฐ์คิดค้นกลไกเครื่องที่ซับซ้อน มาตรฐานความเที่ยงตรง การใช้วัสดุชั้นยอด งานดีไซน์ที่งดงาม ตลอดจนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญด้านต่างๆ ของโลก

╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝

และนี่คือ 10 เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ Omega ที่ Crazy Dial นำมาเสนอ

1.ที่มาของชื่อ Omega

                เริ่มจากปี 1848 Louis Brandt นักประดิษฐ์หนุ่มวัย 23 ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นที่เมือง La Chaux-de-Fonds ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากประกอบนาฬิกาพกจนมีผลงานเป็นที่รู้จักแล้ว ปี 1879 Louis-Paul และ César Brandt ลูกชายทั้งสองของเขารับช่วงกิจการสืบต่อ ได้ย้ายบริษัทไปที่ Bienne และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Louis Brandt & Fils ปี 1894 บริษัทผลิตนาฬิกาใหม่ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นถึงความสำเร็จทั่วโลก ในเรื่องการจับเวลาและการซ่อมที่ง่ายดาย การเคลื่อนไหวครั้งนั้นเป็นที่รู้จักในนาม Omega กระทั่งในปี 1903 บริษัทได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Louis Brandt & Frére, Omega Watch Co. และนับแต่นั้นชื่อแบรนด์ Omega จึงถือกำเนิดขึ้น

 

2. Chronometer – มาตรฐานความเที่ยงตรง

                ก่อนที่นาฬิกาทุกเรือนจะถูกส่งมอบให้กับลูกค้า ทาง Omega จะต้องใช้กระบวนการทดสอบอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่านาฬิกาทุกเรือนทำงานอย่างเที่ยงตรง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพการบอกเวลาอันเป็นเลิศ

                ทั้งนี้มาตรฐานอุตสาหกรรมนาฬิกาในสวิตเซอร์แลนด์ยึดถือความเที่ยงตรงระดับ Chronometer เป็นหลัก นาฬิกาทุกเรือนต้องผ่านการรับรองจากสถาบัน C.O.S.C. (Controle Official Suisse des Chronometres) ที่จะทำการตรวจสอบโดยการนำเครื่องนาฬิกาไปจัดวางในตำแหน่งที่แตกต่างกัน 5 ตำแหน่ง และในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน รวม 15 วัน ระหว่างนั้นเครื่องนาฬิกาที่ตรวจสอบจะต้องมีความคลาดเคลื่อนบวกลบไม่เกิน -4 / +6 วินาทีต่อวัน นั่นถือเป็นมาตรฐานที่นาฬิกาคุณภาพจะต้องสอบผ่าน

3. Master Chronometer – มาตรฐานการทดสอบความเที่ยงตรงอีกระดับ

                นอกจากการตรวจสอบมาตรฐาน Chronometer แล้ว Omega ยังเพิ่มความเชื่อมั่นในมาตรฐานอีกระดับด้วย Master Chronometer ซึ่งเท่ากับยกระดับมาตรฐานกลไกขึ้นไปอีกขั้น และด้วยกระบวนการทดสอบที่โหดกว่า ก่อนจะได้การรับรองจาก ‘สถาบันมาตรวิทยาแห่งสมาพันธรัฐสวิส’ (The Swiss Fedral Institute of Metrology) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘METAS’ เป็นการทดสอบอันเข้มข้นภายใต้เงื่อนไข 8 ประการ และระยะเวลาทดสอบ 10 วัน เริ่มตั้งแต่…

                + ตรวจสอบการทำงานของกลไกในนาฬิกา โดยจัดวางเครื่องนาฬิกาไว้ในสองตำแหน่งที่แตกต่างกัน และส่งเข้าไปอยู่ภายใต้สนามแม่เหล็ก 15,000 เกาส์ ในระหว่างนั้นการทำงานของกลไกจะถูกวัดความถี่จากไมโครโฟน

                + ตรวจสอบการทำงานฟังก์ชันต่างๆ ของนาฬิกาที่อยู่ภายใต้สนามแม่เหล็ก 15,000 เกาส์ และตรวจสอบด้วยความถี่จากไมโครโฟน

                + ทดสอบความเที่ยงตรงแม่นยำทุกวัน หลังจากกลไกสัมผัสสนามแม่เหล็กที่เข้มข้นระดับเดียวกับเครื่อง MRI

                + ทดสอบค่าเฉลี่ยความเที่ยงตรงแม่นยำทุกวันของนาฬิกา ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาดำเนินการ 4 วัน โดยวางนาฬิกาในตำแหน่งที่แตกต่างกัน 6 ตำแหน่ง และใน 2 โซนที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน ต่อด้วยการทดสอบภายใต้สนามแม่เหล็ก 15,000 เกาส์ จากนั้นจะมีการบันทึกความแม่นยำของนาฬิกาในแต่ละวัน และข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยรายวันออกมาเป็นผลลัพธ์สุดท้าย

                + ทดสอบประสิทธิภาพการสำรองพลังงานของกลไกนาฬิกา เพื่อพิสูจน์ว่ามันยังคงทำงานตามขีดความสามารถสูงสุดของกลไกอย่างครบถ้วน

                + ทดสอบค่าคลาดเคลื่อนจากการวางนาฬิกาในตำแหน่งที่แตกต่างกัน 6 ตำแหน่ง เช่น หงายด้านหน้าขึ้น คว่ำหน้าลง เม็ดมะยมตั้งขึ้น เป็นต้น ในระหว่างการทดสอบจะบันทึกความแม่นยำของแต่ละตำแหน่งอย่างละเอียด จากผลลัพธ์ทั้ง 6 ตำแหน่งจะแสดงค่าคลาดเคลื่อนระหว่างผลลัพธ์ที่มากที่สุด 2 ตำแหน่ง เพื่อให้มั่นใจว่านาฬิกายังแม่นยำ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม

                + ทดสอบค่าคลาดเคลื่อนระหว่างนาฬิกาที่มีพลังงานครบ 100% และที่มีพลังงาน 33% โดยวางนาฬิกาไว้ในตำแหน่งที่แตกต่างกัน 6 ตำแหน่ง จากนั้นบันทึกความแม่นยำของนาฬิกาที่มีพลังสำรองทั้งสองแบบในแต่ละตำแหน่งอย่างละเอียด แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาคำนวณหาค่าความคลาดเคลื่อน เพื่อให้แน่ใจว่านาฬิกาทุกเรือนเที่ยงตรงจนพลังงานหมด

                + ทดสอบประสิทธิภาพของระบบกันน้ำ โดยใช้อุปกรณ์หย่อนนาฬิกาลงไปในน้ำ แล้วเพิ่มแรงดันน้ำให้มากขึ้นตามลำดับ จนถึงระดับความต้านทานน้ำตามคุณสมบัติของนาฬิกา ขั้นตอนนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่า นาฬิกาทุกเรือนได้ผ่านการทดสอบด้วยสภาวะใต้น้ำมาแล้วจริงๆ

 

4. Co-Axial Escapement – จุดเด่นที่ท้าทายของ Omega

กลไกที่เป็นเทคโนโลยีหลักของ Omega คือ Co-Axial Escapement (เฟืองแกว่งแกนร่วม) ที่คิดค้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970s โดย George Daniels ช่างทำนาฬิกานักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ Omega ได้นำเอาเทคโนโยลีนี้มาพัฒนาเป็นกลไกนาฬิกาครั้งแรกในปี 1999

ความจริงแล้ว Co-Axial Escapement ถือเป็นการปฏิวัติวงการนาฬิกาในรอบ 250 ปีเลยทีเดียว เนื่องจากมันมีส่วนช่วยลดการเสียดสีของชิ้นส่วนภายในนาฬิกา ทำให้ยืดอายุการใช้งานของกลไกได้ และยังช่วยให้กลไกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น

5. ค้นพบขั้วโลกด้วยนาฬิกา Omega

                มีเรื่องเล่าจากปี 1968 ของชายผู้กล้าหาญสี่คน ที่ใช้เวลาเดินทาง 44 วันเพื่อพิชิตระยะทาง 1,320 กิโลเมตรบนภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งปลายทางคือขั้วโลกเหนือ

                ภารกิจดังกล่าวนำโดยนักสำรวจชาวอเมริกันชื่อ Ralph S. Plaisted พร้อมลูกทีมคือ Gerald Pitzl-นักเดินเรือ Walter Pederson-วิศวกรเครื่องกล และ Jean-Luc Bombardier-นักสำรวจและช่างเทคนิค ชายทั้งสี่สวม Omega Speedmaster Professional Ref. 145012 ซึ่งเป็นหมายเลขอ้างอิงเดียวกันกับนาฬิกาที่นักบินอวกาศขององค์การนาซาใช้ระหว่างปฏิบัติภารกิจ Apollo 11 ในปีถัดมา

                ในระหว่างภารกิจนี้ Speedmaster ของลูกเรือได้รับการตรวจสอบทุกวันโดยวิทยุ เพื่อทดสอบความแม่นยำ หลังจากภารกิจเสร็จสิ้น ลูกเรือสังเกตว่าการเบี่ยงเบนของนาฬิกา Speedmaster Professional ของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงเกินกว่า 1 วินาทีต่อวันเลย นอกจากนั้น Speedmaster ยังสามารถทนต่อความเยือกหนาวที่ -52 องศาเซลเซียส และ + 26 องศาเซลเซียสได้ เมื่อภารกิจลุล่วง Plaisted ได้เขียนจดหมายถึง Omega เล่าถึงการเดินทาง และชัยชนะอย่างเหลือเชื่อครั้งแรกของการสำรวจขั้วโลกเหนือ

 

6. Omega Speedmaster ‘Moonwatch’ – นาฬิกาบนดวงจันทร์

                Speedmaster Professional หรือ ‘Moonwatch’ เป็นนาฬิกา Omega รุ่นที่มีคนรู้จักกันดีที่สุด มันถูกเลือกให้นักบินอวกาศสวมใส่ระหว่างการเดินทางไปดวงจันทร์ครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา

                ในปี 1969 ที่ยานอวกาศอพอลโลเดินทางไปดวงจันทร์นั้น Buzz Aldrin ได้สวมนาฬิกา Speedmaster Ref. 105012 ติดข้อมือไปด้วย มันจึงเป็นนาฬิกาเรือนแรกที่มีโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศบนพื้นผิวของดวงจันทร์ และตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นไป ตัวเรือนนาฬิการุ่น Speedmaster ยังได้รับการเพิ่มข้อความ ‘Flight Qualified by NASA for All Manned Space Missions’ และ ‘The First Watch Worn on the Moon’ อีกด้วย

 

7. Omega Seamaster – ผู้นำแห่งท้องทะเล

                Seamaster นับเป็นรุ่นหนึ่งในเสาหลักของ Omega Collection และเป็นรุ่นที่ใช้งานได้ยาวนานที่สุดที่ Omega ยังผลิตอยู่ มันถูกออกแบบตามสเปกของกองทัพเรืออังกฤษในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง และนำมาใช้ในปี 1948

                คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของ Seamaster ดั้งเดิมคือ ปะเก็นที่ใช้ในการซีลกันรั่ว มีการออกแบบพัฒนาเพื่อใช้ในเรือดำน้ำในช่วงสงคราม ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและแรงดันน้อยกว่าการออกแบบปะเก็นที่ใช้ตะกั่วหรือครั่ง Omega ทดสอบการดำน้ำลึกครั้งแรกของนาฬิกา Seamaster เมื่อปี 1955 ที่ออสเตรเลีย โดยนักดำน้ำ Gordon McLean ซึ่งตอนนั้น Seamaster สามารถทนน้ำได้ลึกกว่า 62.5 เมตร เรียกว่าเกินความคาดหมาย

 

8. Omega ผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

                นับตั้งแต่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1932 ที่ลอส แองเจลีส นาฬิกา Omega Chronograph30 ได้ทำหน้าที่เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการมาจวบถึงปัจจุบัน

                การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1932 Omega ได้จัดเตรียมนาฬิกาจับเวลาแบบความเที่ยงตรงสูงจำนวน 30 เรือน ที่ผ่านการทดสอบในระดับโครโนมิเตอร์แล้ว โดยหอดูดาวแห่งเมืองเนอชาแตล เพื่อการใช้งานจับเวลากีฬาทุกประเภท ซึ่งทำได้ละเอียดถึงเศษ 1/5 และ 1/10 วินาที

                ปี 1948 Omega ได้ใช้กล้องถ่ายภาพแบบโฟโตอิเล็กทริกเป็นครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เซนต์ มอริตซ์ และเป็นครั้งแรกที่ระบบจับเวลาเริ่มทำงานได้โดยอัตโนมัติทันทีที่มีการเปิดประตูปล่อยตัว ปี 1956 Omega นำเสนอผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นที่สุดในเวลานั้น คือ เครื่อง Swim Eight-O-Matic Timer ที่เมลเบิร์น มันเป็นเครื่องจับเวลากึ่งอัตโนมัติของกีฬาว่ายน้ำเครื่องแรก ที่มีการแสดงผลแบบดิจิตอล ช่วยให้ผู้จับเวลาแยกแยะระหว่างนักกีฬาว่ายน้ำสองคนที่แตะขอบสระในช่วงเวลาเกือบจะพร้อมกันได้

                เทคโนโลยีที่น่าทึ่งอย่างมากของ Omega เกิดขึ้นในปี 1968 นั่นคือ แผ่นสัมผัสหยุดเวลาในสระว่ายน้ำ ทำให้นักกีฬาสามารถหยุดเวลาได้ด้วยมือของตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้จับเวลาอยู่ริมสระอีกต่อไป และมันกลายเป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีในเวลาต่อมา อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2012 กับระบบ Open Water Gate ที่ไม่เพียงแต่บันทึกเวลาแตะขอบสระของนักกีฬาเท่านั้น หากยังบันทึกตำแหน่งระหว่างทางโดยใช้อุปกรณ์ติดตามตัวได้ด้วย

                แต่ที่สุดของเทคโนโลยีการจับเวลาในปี 2012 นั้นก็คือ Quantum Timer ซึ่งมีความละเอียดถึงเศษ 1/1000000 วินาที มีนาฬิกาแยกเป็นอิสระ 16 เรือน สามารถแสดงค่าจับเวลาได้ 16 ค่า และส่งผลทั้งหมดนั้นไปยังกระดานคะแนนหรือขึ้นจอโทรทัศน์ได้เลย

 

9. จอห์น เอฟ. เคนเนดี แฟนตัวจริงของ Omega

                ในบรรดาบุคคลมีชื่อเสียงที่ครอบครองนาฬิกา Omega หนึ่งในนั้นคือ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ผู้สวมใส่นาฬิกาOmega ระหว่างการเข้ารับตำแหน่งในฐานะประธานาธิบดีแห่งอเมริกา ในเดือนมกราคม 1961 เป็นนาฬิกาที่เพื่อนคนหนึ่งส่งมอบให้ก่อนการเลือกตั้ง และมีคำจารึกสลักที่ด้านหลังของตัวเรือนว่า “ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี จากแกรนท์ เพื่อนของเขา”

ปัจจุบันนาฬิกา Omega Ultra Thin (Ref. OT3980) ซึ่งเคยเป็นของประธานาธิบดีเคนเนดี ถูกบริษัทซื้อกลับคืนมาในราคา 350,000 ดอลลาร์ และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ Omega ที่สวิตเซอร์แลนด์

 

10. แอ็กเซสซอรีส์คู่กายชิ้นสำคัญของเจมส์ บอนด์ 007

                ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เจมส์ บอนด์สวมใส่นาฬิกาเพียงไม่กี่ยี่ห้อ แต่ไม่มีนาฬิกายี่ห้อไหนที่ตัวละครสายลับ 007 จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและยาวนานเท่ากับแบรนด์ Omega

                เจมส์ บอนด์ รับบทโดยเพียร์ซ บรอสแนน สวมใส่นาฬิกา Omega นับตั้งแต่ ‘Golden Eye’ (ปี 1995) Seamaster Professional หน้าปัดสีน้ำเงินและกลไลควอตซ์คาลิเบอร์ เป็นรุ่นที่ Swatch Group ผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 1993 เพื่อใช้เป็นนาฬิกาดำน้ำสำหรับมืออาชีพ กันน้ำได้ลึกถึง 300 เมตร

            ปี 2006 ไม่เพียงแต่เปลี่ยนตัวนักแสดงจากเพียร์ซ บรอสแนน เป็นแดเนียล เครกเท่านั้น แต่ใน ‘Casino Royale’ เจมส์ บอนด์หน้าใหม่ยังสวมนาฬิกาต่างกันถึงสองเรือน นอกจาก Seamaster Professional แล้ว เขายังสวม Seamaster Planet Ocean หน้าปัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 45.5 มิลลิเมตร กลไกคาลิเบอร์ 2500 กันน้ำได้ลึกถึง 600 เมตร

                ไฮไลท์ของ Omega กับภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ยังปรากฏขึ้นอีกครั้งในปี 2015 ก่อน ‘Spectre’ ออกฉาย นั่นคือการเปิดตัวนาฬิกา Seamaster 300 ‘Spectre’ ที่ Omega ผลิตออกมาแบบ Limited Edition จำนวนจำกัดเพียง 7,007 เรือน สองปีถัดมา Omega เปิดตัว Seamaster Diver 300M ‘Commander’s Watch’ Limited Edition ซึ่งแฟนพันธุ์แท้ของเจมส์ บอนด์ตัวจริงเท่านั้นที่จะรู้ว่า ก่อนที่เจมส์จะมีสถานะเป็นสายลับ 007 เขาเคยเป็นผู้บังคับบัญชาการกองทัพเรืออังกฤษมาก่อน นาฬิกาเรือนนี้ไม่ปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์ แต่เป็นการผลิตขึ้นเพื่ออุทิศให้กับกองทัพเรือ ใช้สีของรอยัล เนวี คือแดง ขาว น้ำเงิน พร้อมโลโก้ 007 บนเข็มวินาที

                ใน ‘No Time to Die’ ซึ่งเป็นภาคใหม่ของเจมส์ บอนด์ที่จะออกฉายในเดือนเมษายน 2020 นี้ มีคำเฉลยออกมาแล้วว่า ครั้งนี้ 007 จะปฏิบัติภารกิจรับใช้พระเดชพระคุณด้วยนาฬิกา Omega Seamaster Diver 300M – 007 Edition


ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของแวดวงนาฬิกาได้ที่นี่…

Crazy Dial – The Watch Community

Line : @crazydial

Instagram : crazydial.official

Facebook : crazydial.official

Website : www.crazy-dial.com

Youtube : Crazy Dial Official

Tiktok : crazydial