10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ TAG Heuer

TAG Heuer เป็นหนึ่งในแบรนด์นาฬิกาสปอร์ตที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครโนกราฟ ออกแบบผลิตนาฬิกาสร้างตำนานอย่างรุ่น Carrera และ Monaco รวมถึงชื่อของ Monza ที่นิกี เลาดาเคยสวมลงแข่งและคว้าแชมป์ฟอร์มูลา 1 จนเป็นตำนาน ก็ยังเขย่าชีพจรผู้ชื่นชอบนาฬิกา TAG Heuer อยู่ไม่คลาย

╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝

Crazy Dial นำเกร็ดประวัติอันยาวนานของนวัตกรรม ผ่านการแข่งขันกีฬาและการแข่งรถของ TAG Heuer มาบอกเล่า ให้คุณได้รู้จักแบรนด์นาฬิการะดับโลกสัญชาติสวิสแบรนด์นี้มากขึ้น  

1. แจ้งเกิดจากสายกีฬา

Edouard Heuer ก่อตั้ง Heuer Watch Company ขึ้นเมื่อปี 1860 ที่เมืองแซงต์-อิมิเยร์ ของสวิตเซอร์แลนด์ สร้างชื่อเสียงโด่งดังในช่วงต้นขึ้นจากการคิดค้นและผลิตนาฬิกาจับเวลา จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฬิกาจับเวลาสำหรับการแข่งขันกีฬา ไม่ว่าในโอลิมปิกที่แอนต์เวิร์ป ปารีส หรืออัมสเตอร์ดัม นาฬิกาของ Heuer ได้รับความไว้วางใจในเรื่องของการจับเวลาที่แม่นยำและเที่ยงตรง จนกระทั่งในปี 1933 แบรนด์ได้โอกาสได้เปิดตัว Autavia นาฬิกาที่มีหน้าปัดจับเวลาเป็นครั้งแรกสำหรับรถแข่งอย่างเป็นทางการ ปี 1985 Heuer Watch Company ได้รับการพัฒนาต่อโดย TAG Group (Holdings) ซึ่ง S.A. TAG ก็เป็นคำย่อมาจาก Techniques d’Avant Garde จากนั้นได้รวมชื่อ TAG และ Heuer เข้าด้วยกัน จนกลายมาเป็นชื่อแบรนด์ TAG Heuer ที่เรารู้จักในวันนี้ และหลังจากนั้นในปี 1999 บริษัทเครือ LVMH ก็ได้เข้ามาซื้อกิจการสืบต่อ  

2. ลดความซับซ้อนของกลไก

การแข่งขันของตลาดนาฬิกาในอดีตมีความดุเดือดร้อนแรงไม่แพ้ยุคปัจจุบัน นักออกแบบกลไกนาฬิกาสมัยนั้นต้องคิดค้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนากลไกนาฬิกาให้มีชิ้นส่วนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มความทนทานและง่ายต่อการซ่อมบำรุง ปี 1887 Edouard Heuerได้พัฒนาสำเร็จและได้จดสิทธิบัตร Oscillating Pinion ซึ่งเป็นเดือยหมุนขึ้นลาน ช่วยลดทอนโครงสร้างระบบจับเวลาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น และเป็นกลไกจับเวลาที่กลายเป็นมาตรฐานที่ผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่ของโลกใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ Oscillation Pinion เดือยหมุนขึ้นลานในกลไกนี้ทำหน้าที่ขบและปลดสั่งการระบบกลไกจับเวลา ให้ทำหน้าที่ไขลานถ่ายพลังงานจากตลับลานผ่านชุดเกียร์ถ่ายกำลังจ่ายไปยังระบบกลไกนาฬิกา เดือยหมุนขึ้นลานนี้ได้เข้ามาลดความซับซ้อน ทำให้กระบวนการผลิต การประกอบ การปรับตั้ง และการซ่อมบำรุงนาฬิกาง่ายขึ้น เป็นการพัฒนาที่ทำให้ปริมาณการผลิตกลไกโครโนกราฟเพิ่มมากขึ้น แต่ใช้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า  

3. ขั้นกว่าของความเร็ว

อีกความสำเร็จของ Heuer เกิดขึ้นในช่วงปี 1916 เมื่อ Charles-Auguste Heuer เปิดตัว Mikrograph ซึ่งแต่เดิมเป็นนาฬิกากลไกจับเวลารุ่นแรกที่สามารถวัดเวลาได้ละเอียดถึง 1/100 ต่อวินาที เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้อัตราการทำงานของเครื่องจะต้องเท่ากับ 360,000 ครั้งต่อชั่วโมง ถือเป็นสิบเท่าของกลไกโครโนกราฟทั่วไปในสมัยนั้น จึงทำให้ Mikrograph ของ Heuer ปฏิวัติจากนาฬิกาจับเวลาแบบเดิม กระทั่งได้รับเลือกเป็นนาฬิกาจับเวลาอย่างเป็นทางการสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 1920 ที่เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม

 

4. นาฬิกาสวิสเรือนแรกในอวกาศ

John Glenn นักบินอวกาศของสหรัฐฯ พกนาฬิกาจับเวลา Heuer Stopwatch 2915A ผูกสายยางไว้กับชุดนักบินอวกาศ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1962 ไปปฏิบัติภารกิจบนยาน Friendship 7 โคจรรอบโลกสามครั้ง เป็นเวลาเกือบสี่ชั่วโมงครึ่ง นับเป็นนาฬิกาสัญชาติสวิสเรือนแรกที่ได้รับเลือกขึ้นสู่ห้วงอวกาศ  ทุกวันนี้นาฬิกาจับเวลาเรือนดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์อวกาศแห่งชาติ ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี  

5. คาร์เรรา ที่เป็นตำนาน

TAG Heuer มีตำนานและความเกี่ยวข้องกับการแข่งรถ และนาฬิการุ่น Carrera ของแบรนด์นี้มีชื่อเสียงมากที่สุด Jack Heuer เปิดตัวนาฬิกาโครโนกราฟรุ่นนี้เมื่อปี 1963 หลังจากที่ได้เข้ามาบริหารบริษัทต่อจากลุงของเขาไม่นาน ชื่อของรุ่นมาจาก Carrera Panamericana ซึ่งเป็นเส้นทางแข่งรถที่อันตรายที่สุดของเม็กซิโกในช่วงทศวรรษ 1950s Jack Heuer ต้องการออกแบบนาฬิกาสำหรับนักขับรถแข่ง ที่สมบูรณ์แบบและทนทาน ต่อการสั่นสะเทือนของผู้ขับขี่ในระหว่างการแข่งขัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่จนสืบทอดเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้

6. การแข่งขันกันด้านโครโนกราฟ

เมื่อนาฬิกาไขลานออโตเมติกถึงจุดอิ่มตัวในตลาด ทำให้กระแสนิยมของนวัตกรรมโครโนกราฟเพิ่มมากขึ้น ครั้งนั้นมี 3 บริษัทใหญ่ได้แข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมโครโนกราฟ เพื่อแย่งชิงตำแหน่งผู้นำด้านเทคโนโลยีนาฬิกาโครโนกราฟ คู่แข่งรายแรกคือ Seiko รายที่สอง Zenith และรายที่สามเป็นความร่วมมือกันระหว่าง Heuer, Breitling, Leonidas, Hamilton/Büren และ Dubois Dépraz ในเดือนมกราคมปี 1969 Zenith ประกาศเปิดตัว El Primero หรือ The First นาฬิกาออโตเมติก โครโนกราฟ คาลิเบอร์ สร้างกระแสฮือฮาให้กับโลกนาฬิกา แต่ในอีกสองเดือนถัดมา Heuer ก็เปิดตัว Caliber 11 ที่โด่งดังตามออกมา เป็นนาฬิกาออโตเมติก โครโนกราฟที่ Heuer พัฒนาสำเร็จเป็นเรือนที่สาม  

7. นาฬิการถแข่ง

นาฬิกาหลายรุ่นของ TAG Heuer มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการแข่งรถ แต่มีอยู่รุ่นหนึ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ นั่นคือรุ่น Monaco ที่สตีฟ แม็คควีน ดาราฮอลลีวูดในตำนาน ได้สวมใส่เข้าฉากในภาพยนตร์เรื่อง ‘Le Mans’ ในปี 1971 โดยรับบทเป็นไมเคิล เดอลานีย์ ในทีมกัลฟ์ Porsche 917 เข้าแข่งขันในสนามเลอ มองส์ที่ฝรั่งเศส นอกจากนาฬิกา Heuer ‘Monaco’ แล้ว แม็คควีนยังสวมชุดนักแข่งรถที่มีโลโก้ ‘Chronograph Heuer’ ด้วย จนกลายมาเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำของแบรนด์ ทุกวันนี้โมเดล 1133 มีชื่อเรียกกันว่า ‘McQueen Monaco’

 

8. การเข้ามาของแจ็ค ฮอยเออร์

Jack Heuer เป็นทายาทรุ่นที่สี่ที่มีส่วนสร้างชื่อเสียงและนำมาซึ่งนวัตกรรม หลังจากเข้าร่วมในธุรกิจของครอบครัวแล้ว ในปี 1959 เขาได้ก่อตั้ง Heuer Time Corporation ขึ้นที่สหรัฐอเมริกา จากนั้นเดินทางไปเรียนรู้ด้านการตลาดที่นั่น พร้อมกับรับผิดชอบงานด้านการออกแบบนวัตกรรมให้กับนาฬิกาของแบรนด์ หลังจากบริษัท Heuer สร้างชื่อด้านนาฬิกาจับเวลาและโครโนเมเตอร์มาพอสมควรแล้ว เขาได้ต่อยอดด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา ด้วยการใช้คนดังมาเป็นตัวแทนหรือทูตของแบรนด์ ไม่ว่านักแสดง นักแข่งรถ หรือนักการเมืองที่มีชื่อเสียง รวมทั้งยังเสนอตัวเป็นสปอนเซอร์ร่วมกับค่าย Ferrari ในสนามฟอร์มูลา 1 ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ Heuer ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาของเขาเช่นกัน ปี 1982 เขาต้องตัดสินใจขายกิจการให้กับกลุ่มบริษัท TAG ก่อนที่อีกกว่าทศวรรษถัดมากลุ่ม LVMH จะได้ถือครองกิจการ และนับแต่ปี 2001 Jack Heuer ได้กลับเข้าไปเป็นประธานกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาของแบรนด์จวบจนถึงปัจจุบัน  

9. โมนาโก V4

Heuer Monaco นาฬิการุ่นกันน้ำ ออโตเมติกโครโนกราฟ ตัวเรือนสี่เหลี่ยม ปรากฏออกสู่ตลาดครั้งแรกเมื่อปี 1969 และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากแวดวงรถแข่งและเหล่าคนดัง จากนั้น Heuer ได้พัฒนาต่อเนื่องมาจนถึง Monaco V4 Tourbillon ที่ไปเปิดตัวคอนเซ็ปต์ในงานบาเซลเวิลด์เมื่อปี 2004 และใช้เวลาในการคิดค้นพัฒนาต่ออีกห้าปี กว่าจะปล่อยซีรีส์แรกแบบ Limited Edition ออกมา ปี 2014 TAG Heuer ฉลองครบรอบ 10 ปีตระกูล Monaco V4 ที่งานบาเซลเวิลด์อีกครั้ง โชว์กลไกนาฬิกา Tourbillon ขับเคลื่อนด้วยสายพาน ซึ่งการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจากกลไกของเครื่องยนต์ที่หลายคนคิดว่าเป็นไปได้ยาก แต่ผลงานการสร้างสรรค์ของ TAG Heuer คือบทพิสูจน์ความสามารถด้านการพัฒนาของแบรนด์ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จนี้ก็คือ Guy Semon ซีอีโอ ผู้ดูแลด้านงานวิจัยและการพัฒนาของ TAG Heuer Institute นั่นเอง  

10. เจ้าพ่อแห่งความสำเร็จ

Guy Semon อดีตนักบินและนักฟิสิกส์ ที่ปัจจุบันได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีนาฬิกาของแบรนด์ในเครือ LVMH อาทิ TAG Heuer, Hublot และ Zenith หลังจากตอบโจทย์ความท้าทายของ Monaco V4 แล้ว ภารกิจถัดมาของเขาคือการต่อยอดพัฒนา Mikrograph ซึ่งเป็นกลไกนาฬิกาข้อมือที่มีแรงเคลื่อนด้วยความถี่สูง 360,000 ครั้งต่อชั่วโมง วัดเวลาได้ 1/100 วินาที และ Mikrotimer ที่วิ่งด้วยอัตราความถี่ 3,600,000 ครั้งต่อชั่วโมง จับเวลาได้ละเอียด 1/1,000 วินาที ตามมาด้วย Mikrogirder ขับเคลื่อนด้วยความถี่สูงถึง 7,200,000 ครั้งต่อชั่วโมง วัดเวลาได้แม่นยำ 1/2,000 วินาที Guy Semon ยังประสบความสำเร็จในการสร้างกลไกความถี่สูงด้วย Dual Architecture Movement หรือสถาปัตยกรรมโครงสร้างกลไกคู่ ซึ่งแต่ละกลไกจะมีตลับลานสองชุดที่มีความถี่ต่างกัน โดยภาคกลไกนาฬิกาปกติจะขับเคลื่อนด้วยความถี่ต่ำ ส่วนภาคกลไกจับเวลาจะขับเคลื่อนด้วยความถี่สูง Mikrogirder ที่เขาพัฒนานั้นก้าวล้ำไปอีกขั้นด้วยชุดคานโยกจิ๋วสามอันที่สั่นด้วยความถี่สูง มันถูกคิดค้นขึ้นเพื่อใช้แทนระบบปล่อยจักรแบบเดิมในการจับเวลา เรียกว่าเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ก้าวล้ำที่สุดของกลไกนาฬิกาจับเวลาเลยทีเดียว   ทั้งหมดนี้น่าจะสะท้อนภาพให้เห็นความเป็นหนึ่งและสุดยอดของ TAG Heuer ที่เป็นความภาคภูมิใจทั้งของแบรนด์เอง รวมถึงผู้ที่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน


ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของแวดวงนาฬิกาได้ที่นี่…

Crazy Dial – The Watch Community

Line : @crazydial

Instagram : crazydial.official

Facebook : crazydial.official

Website : www.crazy-dial.com

Youtube : Crazy Dial Official

Tiktok : crazydial