คราวนี้ Crazy Dial ขอพาคุณมาทำความรู้จักกับนาฬิกาโครโนกราฟ แต่ก่อนอื่นเราควรจะรู้ถึงความหมายของคำนี้กันเสียก่อน น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี Chronograph มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำรวมกัน คือ โครโนส (Chronos) หมายความว่า ‘เวลา’ และกราโฟ (Grapho) แปลว่า ‘การเขียน’ เมื่อนำสองคำมารวมกันเป็น ‘Chronograph’ หมายถึง การจับเวลาที่แม่นยำเที่ยงตรง ราวกับใช้มือเขียนก็ไม่ปาน
╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝
นอกจากหน้าที่หลักในการบอกเวลาตามปกติแล้ว นาฬิกาโครโนกราฟยังสามารถใช้จับเวลาที่ละเอียดระดับเศษเสี้ยวของวินาที สามารถจับความเร็วของยานพาหนะ จึงทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในภาพลักษณ์นาฬิกาออกแนวสปอร์ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมความเร็วในทุกรูปแบบ
โครโนกราฟส่วนใหญ่มีพื้นฐานการใช้งานใกล้เคียงกันเกือบทั้งสิ้น เริ่มที่การกดปุ่มจับเวลาที่ตำแหน่ง 2 นาฬิกา จากนั้นเข็มวินาทีใหญ่จะออกเดินโดยทันที เดินไปเรื่อยๆ เพื่อทำการจับเวลา และเมื่อเสร็จสิ้นการจับเวลาแล้วให้ทำการกดหยุดเวลาที่ปุ่มเดิมในตำแหน่ง 2 นาฬิกา แต่ขอเตือนไว้นิดนะว่า อย่าเผลอไปกดปุ่มด้านล่างที่ตำแหน่ง 4 นาฬิกาเด็ดขาด เพราะปุ่มในตำแหน่งนั้นจะคอยทำหน้าที่ Reset การจับเวลาใหม่เท่านั้น หลายคนเคยมีประสบการณ์กดผิด ทำเอาระบบของนาฬิกาพังไปเลย เป็นเรื่องต้องเข้าศูนย์ไปซ่อมกันแบบเสียรู้เสียท่ากันมาเยอะแล้ว
หลักในการใช้ฟังก์ชันง่ายๆ ขอให้จำไว้ให้ดี ปุ่มกดในตำแหน่ง 2 นาฬิกาทำหน้าที่เริ่มจับเวลาและหยุดเวลาในปุ่มเดียวกัน ส่วนปุ่มด้านล่างในตำแหน่ง 4 นาฬิกาจะทำหน้าที่ Reset กลับสู่ตำแหน่งเดิมของเข็มวินาทีใหญ่ เพื่อเตรียมพร้อมในการจับเวลาในครั้งต่อไป ควรจดจำและฝึกการใช้ฟังก์ชันเบื้องต้นให้แม่นยำ คุณจะได้ใช้งานเจ้าโครโนกราฟได้อย่างคล่องมือ โดยไม่เกิดความผิดพลาดให้ต้องหงุดหงิดใจ
สำหรับหน้าปัดย่อย ‘Subdial’ มีหลักให้ต้องรู้ง่ายๆ คือ โดยมากทุกแบรนด์จะผลิตนาฬิกาโครโนกราฟให้มีอีก 3 หน้าปัดย่อย ซึ่งจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป อย่างที่รู้กันว่า เข็มวินาทีใหญ่ที่จอดนิ่งอยู่ในตำแหน่ง 12 นาฬิกานั้นคอยทำหน้าที่ในการจับเวลาเท่านั้น ซึ่งโดยปกตินาฬิกาแบบทั่วๆ ไปเข็มวินาทีใหญ่จะต้องเดินวนไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้นาฬิกาโครโนกราฟจึงต้องมีหน้าปัดย่อยช่องหนึ่งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เดินบอกวินาทีของนาฬิกาหลัก นิยมเรียกหน้าปัดย่อยอันนี้ว่า Watch’s Second Hand Subdial (หน้าปัดย่อยของเข็มวินาที)
อีกหน้าปัดย่อยที่สำคัญไม่แพ้กันคือ Chronograph’s Minute Hand Subdial (หน้าปัดย่อยบอกนาทีของการจับเวลา) ย้ำนะครับว่า มันทำหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับการจับเวลา ไม่เกี่ยวกับการบอกเวลาของนาฬิกาหลัก ซึ่งหน้าปัดนี้จะทำงานเชื่อมโยงโดยตรงกับเข็มใหญ่ในหน้าปัดนาฬิกา จะเดินเมื่อเริ่มกดปุ่มจับเวลา และหยุดเดินเมื่อสั่งให้หยุดด้วยการกดปุ่มสั่งการในตำแหน่ง 2 นาฬิกา
หน้าปัดย่อยช่องสุดท้ายเรียกว่า Chronograph’s Hour Hand Subdial (หน้าปัดย่อยบอกชั่วโมงของการจับเวลา) ทำหน้าที่เชื่อมโยงในการจับเวลาเช่นกัน ซึ่งเข็มในหน้าปัดย่อยนี้ทำหน้าที่คอยบอกเวลาที่จับอยู่ในรูปแบบของจำนวนชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มกดปุ่มจับเวลา และจะหยุดสั่งการในการจับเวลาด้วยตำแหน่งปุ่ม 2 นาฬิกาเช่นเดิม
ทั้งหมดที่ร้อยเรียงมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับนาฬิกาโครโนกราฟ ภาพรวมที่จำเป็นต้องเข้าใจและจดจำก็จะประมาณนี้ บวกลบไม่เกินไปกว่าที่เราๆ จะเข้าใจกันได้ แม้แต่ละแบรนด์จะดีไซน์ออกแบบให้โครโนกราฟมีการสลับตำแหน่งของหน้าปัดย่อยทั้ง 3 ให้แตกต่างกันออกไปเพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น อย่างไรก็ตามฟังก์ชันการใช้งานก็จะไม่หนีไปจากพื้นฐานตั้งต้นที่ใกล้เคียงกัน
และหากทำความเข้าใจและจดจำฟังค์ชันในการใช้งานจนคุ้นชินแล้ว คุณจะสามารถใส่นาฬิกาโครโนกราฟได้อย่างมั่นใจ พร้อมทั้งใช้งานทุกฟังค์ชันอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์เท่ๆ คูลๆ ของคุณให้สมบูรณ์แบบมากขึ้นไปอีกระดับ
Crazy Dial มีเป้าหมายที่จะเป็น Creative StoryTelling สื่อเน้นการเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างสังคมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อมูลนาฬิกา สร้างแรงบรรดาลใจให้กับคนที่ชื่นชอบนาฬิกามือใหม่ รวมถึงนักสะสมนาฬิกามือเก่า ขอบคุณที่มาเป็นส่วนนึง และร่วมแบ่งบันประสบการณ์ไปพร้อมๆกัน กับ Crazy Dial