นาฬิกาวินเทจกำลังอินเทรนด์ โดยเฉพาะนาฬิกาแบรนด์หรูบางเรือนบางรุ่นที่เป็นมรดกสืบทอดกันมานั้น มีราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อมาในอดีตหลายสิบเท่า
Crazy Dial รวบรวมคำแนะนำจากกูรู-ผู้รู้เรื่องเกี่ยวกับแวดวงนาฬิกาวินเทจของยุโรปมาบอกต่อ เป็นข้อมูลสำหรับใครที่คิดอยากเล่นหรือลงทุนกับนาฬิกาแนวนี้ รวมไปถึงใครที่กำลังคิดตัดสินใจจะซื้อนาฬิกาเรือนใหม่ด้วยนะครับ
╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝
การหาคำตอบว่านาฬิกาวินเทจที่คุณครอบครองอยู่นั้นมีค่าหรือไม่? มีคำแนะนำว่า ให้ดูที่พื้นหน้าปัดและด้านหลังของตัวเรือน ซึ่งจะบอกชื่อแบรนด์ รุ่น และหมายเลขอ้างอิง
นาฬิกาที่มีราคาสูงมักเป็นนาฬิกาแบรนด์หรู อย่างเช่น Patek Philippe, Rolex, A. Lange & Söhne, IWC, Audermars Piguet, Jaeger LeCoultre หรือ Vacheron Constantin รวมถึงบางรุ่นของ Omega, TAG Heuer หรือ Nomos Glashütte ก็เป็นที่หมายตาของบรรดานักสะสม ทั้งหมดนี้มีค่าและราคาแตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไข เช่น ปีผลิต รุ่น เอดิชัน และสภาพของตัวเรือนนาฬิกา
ระบบการทำงานของนาฬิกาที่ถูกวางทิ้งไว้นานจะค่อนข้างฝืด มันอาจทำงานได้ดีอยู่ แต่กลไกอาจเสียหายไปแล้วก็ได้ หากปราศจากการหล่อลื่น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดและทำการหล่อลื่นนั้นไม่สูงมาก ส่วนการทำงานของนาฬิกาจะยังมีสภาพดีเหมือนเดิมหรือไม่ คงต้องพึ่งพาช่างในการตรวจเช็คหรือซ่อมแซม
นาฬิกาแต่ละเรือนควรได้รับการซ่อมแซมทุกๆ 5 ปี เพื่อตรวจสอบเม็ดมะยม สายนาฬิกา สภาพสุญญากาศ เข็มนาฬิกา และหน้าปัด รวมทั้งใบเสร็จหรือใบรับรองก็เป็นสิ่งสำคัญ และถ้าหากมีกล่องบรรจุที่เป็นออริจินอลของนาฬิกาอยู่ด้วยละก็ มันจะทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นในการขายต่อ
สำคัญยันสายนาฬิกา…คือเรื่องจริง นาฬิกาหรูสายหนังราคาแพงบางครั้งก็มีเสื่อมสภาพเมื่อผ่านอายุการใช้งานไปนานนับสิบปี ต้องมีการเปลี่ยนสายใหม่ ที่บอกว่าสำคัญนั้น จะยกตัวอย่างเช่น สายออริจินอลของ Rolex Submariner ที่เคยผลิตในช่วงทศวรรษ 1970s เป็นสายนาฬิกาแนวสปอร์ตธรรมดาๆ นั้น ทุกวันนี้กลายเป็นของหายากมาก เพราะรุ่นต่อๆ มา Rolex ได้ปรับเปลี่ยนแล้ว
แต่ใครมี Rolex เรือนแท้และดั้งเดิมก็ไม่ได้แปลว่าง่ายเหมือนกัน เพราะนาฬิการุ่นเก่าๆ ส่วนใหญ่ไม่มีอะไหล่สำรอง เนื่องจากชิ้นส่วนประกอบจำนวนมากไม่ได้มีการผลิตอีกต่อไปแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่า นาฬิกาสภาพดั้งเดิมที่มีราคาสูงนั้น หากชำรุดหรือทรุดโทรมก็ไม่สามารถซ่อมแซมหรือปรับเปลี่ยนให้มีสภาพเหมือนดั้งเดิมได้อีก นอกจากนั้นแล้วมันอาจสูญเสียคุณค่าความเป็นวินเทจไป
ในขณะที่เรื่องกระจกนาฬิกาแตกไม่ใช่ปัญหา เพราะเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วนาฬิกาส่วนใหญ่ประกอบตัวเรือนกระจกด้วยกระจกหนาทนความร้อน หรือ Plexiglas เสียส่วนใหญ่ ทุกวันนี้ยังมีใช้เป็นอะไหล่สำรองอยู่
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณค่าของนาฬิกาวินเทจแต่ละเรือนไม่ได้อยู่ที่สภาพเป็นของแท้ดั้งเดิมเสมอไป ทุกวันนี้นาฬิกาวินเทจถูกจัดอยู่ในประเภท ‘แฟชั่นเท่ๆ’ ถ้าหากว่ามันจะมีคราบเล็กน้อยหรือร่องรอยการใช้งานหลงเหลืออยู่บ้าง ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ราคาตกต่ำมากนัก แค่อย่าให้ถึงกับมีคราบหรือรอยสนิมบนหน้าปัดนาฬิกาก็พอ เพราะนั่นจะกลายเป็นนาฬิกาที่ไม่มีใครอยากได้ทันที
อีกอย่างเกี่ยวกับนาฬิกาวินเทจก็คือ พรายน้ำที่ตัวเลขบอกเวลา นาฬิกาที่ผลิตก่อนยุคทศวรรษ 1980s มักเป็นพรายน้ำเรืองแสงสีเขียว แต่สิบกว่าปีที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนสารเรืองแสงที่จุดสำคัญบนหน้าปัดเป็นสีเบจ ส่วนเข็มนาฬิกาและตัวเลขบอกเวลายังคงเป็นสีเขียวเช่นเดิม
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข้อมูลและคำแนะนำจากผู้รู้เกี่ยวกับนาฬิกาวินเทจ ที่คนชอบนาฬิกาหรือนักสะสมนาฬิกาควรได้รับคำปรึกษาเรื่องนี้เฉพาะด้าน มากกว่าการค้นหาข้อมูลจากกูเกิลอย่างเดียว
และนี่อาจเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องการจะซื้อนาฬิกาหรูสักเรือน ไว้เป็นแนวทางในการใช้สอย เก็บรักษา เพื่อว่าในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า นาฬิกาหรูที่ซื้อไว้จะกลายเป็นของมีค่า ไม่ใช่แค่ขยะเหลือใช้
Crazy Dial มีเป้าหมายที่จะเป็น Creative StoryTelling สื่อเน้นการเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างสังคมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อมูลนาฬิกา สร้างแรงบรรดาลใจให้กับคนที่ชื่นชอบนาฬิกามือใหม่ รวมถึงนักสะสมนาฬิกามือเก่า ขอบคุณที่มาเป็นส่วนนึง และร่วมแบ่งบันประสบการณ์ไปพร้อมๆกัน กับ Crazy Dial