เป็นที่กล่าวขานกันในแวดวงนาฬิกาว่า Patek Philippe คือหนึ่งในจำนวนช่างทำนาฬิกาที่น่าเกรงขามที่สุดในโลก และเป็นที่เลื่องลือมานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 1839 ที่เจนีวา โดย Antoine Norbert de Patek ชายสัญชาติโปแลนด์ และ François Czapek ช่างทำนาฬิกาชาวฝรั่งเศส
╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝
ทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนบริษัท Patek, Czapek & Cie. ผลิตนาฬิกาคุณภาพสูงส่งออกราว 200 เรือนต่อปี ดำเนินกิจการมาประมาณหกปี Czapek ก็ถอนตัวออกไป แต่ Patek ได้พบกับช่างทำนาฬิกายอดฝีมือคนใหม่ชื่อ Jean-Adrien Philippe และได้สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทอย่างมากมายอีกครั้ง ด้วยการคิดระบบไขลานและตั้งเวลาของนาฬิกาด้วยเม็ดมะยมแทนกุญแจไขลาน ไม่ช้าต่อมาบริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น Patek Philippe
วันที่ 24 ตุลาคม 1929 ตลาดหุ้นในนิวยอร์กประสบภาวะดิ่งเหว ตามด้วยวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก Patek Philippe เองก็ประสบปัญหาด้วยเช่นกัน กระทั่งในปี 1932 Charles และ Jean Stern สนใจซื้อกิจการไป แต่ก็ยังคงนโยบายเดิมของบริษัทไว้ นั่นคือการเน้นคุณภาพของนาฬิกา
จวบถึงปัจจุบันกิจการครอบครัวได้ถูกถ่ายโอนเปลี่ยนมือมาจนถึงยุคของ Thierry Stern ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูล Stern
ว่ากันว่า Patek Philippe มักมุ่งมั่นกับการลงทุน เงิน 600 ล้านสวิสฟรังก์ (ราว 2 หมื่นล้านบาท) ที่ทุ่มไปนั้น 500 ล้านสวิสฟรังก์ถูกใช้ไปกับโครงสร้างอาคารฝ่ายผลิตแห่งใหม่ ซึ่งตั้งชื่ออย่างเรียบง่ายว่า ‘PP6’ อาคารสูง 10 ชั้น ความกว้าง 67 เมตร ความยาวเกือบ 200 เมตร มีตำแหน่งอยู่บนพื้นที่ลานจอดรถเดิมของบริษัท ขอบชั้นของอาคารทาสีขาวเป็นแนวยาว มุมอาคารด้านหน้าโค้งมน รูปทรงชวนให้นึกถึงหัวเรือ และตัวเรือนของนาฬิการุ่น Nautilus
งานก่อสร้างเริ่มต้นในปี 2015 จากต้นความคิดของ Philippe Stern ประธานบริษัทคนก่อนหน้า ที่ต้องการจะสร้างโรงงานผลิตใน Plan-les-Ouates เพื่อให้บรรดาช่างนาฬิกาที่ทำงานกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ในเจนีวา ได้เข้ามาอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน จากช่วงเวลานั้นจนถึงปัจจุบันนี้มีการขยายต่อเติม รวมถึงอาคาร PP6 หลังใหม่ พร้อมรองรับทุกคนตั้งแต่ระดับเด็กฝึกงานจนถึงช่างฝีมือหาตัวจับยาก
ตัวอาคาร PP6 ถูกจัดสรรพื้นที่แยกเป็น 5 ส่วน ชั้นล่างและชั้นหนึ่งของอาคารถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ฝ่ายผลิตและการตัดชิ้นส่วน ในขณะที่เป็นพื้นที่สำหรับงานกลึง งานขัดด้วยมือ งานประกอบชิ้นส่วนภายนอก งานประดับอัญมณี และงานบูรณะชิ้นงานวินเทจ
ชั้นสามรองรับแผนกต่างๆ เช่น แผนกวิจัยและพัฒนา แผนกนาฬิกาชั้นสูง และพื้นที่สำหรับหน่วยงานใหม่เพื่องานสร้างต้นแบบ ชั้นสี่ออกแบบเป็นพื้นที่สำหรับการฝึกอบรม พร้อมห้องออดิทอเรียม
และชั้นห้าออกแบบให้มีร้านอาหารสไตล์เพนต์เฮาส์ รองรับได้ถึง 880 คน และห้องวีไอพีอีก 4 ห้อง พร้อมทัศนียภาพทิวเขาที่รายล้อมเมือง
อาคารหลังนี้เปรียบเสมือนภาพลักษณ์ที่สะท้อนถึงอนาคตของ Patek Philippe ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการรวมศูนย์การผลิตในปัจจุบันเท่านั้น หากยังใช้เป็นสถานที่รองรับช่างทำนาฬิกาและนาฬิกาในอนาคตอีกด้วย รวมถึงพื้นที่สำหรับการพัฒนาวัสดุและต้นแบบใหม่ๆ และเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตในเชิงบวก โดยรวมพื้นที่ว่างที่สามารถขยายเพิ่มเติมได้ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า
นอกจากนี้ยังคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานสำหรับบริษัทโดยทั่วไปในศตวรรษที่ 21 ด้วยระบบการเก็บกักความร้อนเพื่อการใช้หมุนเวียน เป็นการลดพลังงานไปในตัว
และที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ Patek Philippe มักถือโอกาสใช้วาระสำคัญต่างๆ ของบริษัท เปิดตัวผลงานนาฬิการุ่นลิมิเต็ด เอดิชันเป็นธรรมเนียมประเพณีอย่างสม่ำเสมอ เหมือนเช่นวาระเฉลิมฉลองโรงงานใหม่ในปี 1997 มีการเปิดตัว Pagoda Ref. 5500 จำกัดจำนวนที่ 1,100 เรือน และตอกย้ำความสำเร็จอีกครั้งด้วย Ref. 5029 จำกัดจำนวนเพียง 10 เรือน
เมื่อ PP6 ขยายปีกเพิ่มเติมและแล้วเสร็จ Patek Philippe ก็มีวาระพิเศษอีกครั้งในการเปิดตัว Patek Philippe Calatrava Manufacture Edition Ref. 6007A-001 ที่พัฒนาต่อจาก Calatrava Ref. 06 และ Ref. 96SC ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกไปเมื่อปี 1932 มันเป็นนาฬิการุ่นที่ได้แรงบันดาลใจจากกระแสของ Bauhaus อันมีกฎเกณฑ์ของความเรียบง่าย และ ‘form follows function’ ที่ชัดเจนและมีลายเซ็นของแนวคิดที่ฉีกกฎสังคม
Calatrava รุ่นใหม่ปี 2020 ค่อนข้างไปได้สวยทีเดียวในกลุ่มนักสะสม เพราะนอกจากรูปโฉมสปอร์ต โฉบเฉี่ยว โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และมีเรื่องราวน่าสนใจแล้ว ยังมีการผลิตออกมาแบบจำกัดจำนวนเพียง 1,000 เรือนด้วย แม้จะเปิดตัวแรงที่ราคา 25,720 ยูโร หรือราว 9 แสนกว่าบาทก็ตาม
Crazy Dial มีเป้าหมายที่จะเป็น Creative StoryTelling สื่อเน้นการเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างสังคมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อมูลนาฬิกา สร้างแรงบรรดาลใจให้กับคนที่ชื่นชอบนาฬิกามือใหม่ รวมถึงนักสะสมนาฬิกามือเก่า ขอบคุณที่มาเป็นส่วนนึง และร่วมแบ่งบันประสบการณ์ไปพร้อมๆกัน กับ Crazy Dial