นอกจากสวิตเซอร์แลนด์แล้ว เยอรมนีก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในผลงานการผลิตนาฬิกาอันดับต้นๆ ของยุโรป และแบรนด์ Junghans สัญชาติเยอรมันซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย แม้แต่ในเมืองไทย ได้สร้างตำนานขึ้นในแบบที่ไม่มีใครเหมือน
╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝
Crazy Dial พาไปรู้จักความเป็นมาของ Junghans แบรนด์ที่ไม่เคยมีนาฬิกาเรือนเล็กบนข้อมือในแผนและความคิดตั้งแต่เริ่มต้น
แอร์ฮาร์ด ยุงฮานส์ (Erhard Junghans) มีความคิดแตกต่างจากช่างนาฬิกาแบบดั้งเดิม ที่ไม่คิดอยากทำแม้กระทั่งนาฬิกาแบบพกพา จุดประสงค์ของเขาที่ก่อตั้งกิจการ ‘Gebrüder Junghans A.G.’ ขึ้นในเมืองชรัมแบร์กเมื่อปี 1861 ก็เพื่อผลิตกล่องไม้ เข็มนาฬิกา ตุ้มเหวี่ยง ลวดตะขอ บานพับ หรือชิ้นส่วนอื่นๆ สำหรับประกอบนาฬิกาเรือนใหญ่ และไม่ได้ออกแบบผลงานตามศิลปะนิยมของท้องถิ่นป่าดำ ในปีนั้นแอร์ฮาร์ดได้ขอให้ฟรานซ์ ซาแวร์ (Franz Xaver) น้องชายที่อพยพไปอยู่อเมริกาตั้งแต่ปี 1845 ช่วยประสานงานและจัดส่งเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาให้ พร้อมข้อเสนอให้ร่วมเป็นหุ้นส่วนในกิจการ เมื่อฟรานซ์ ซาแวร์รับรู้ข่าวแล้วไม่รอช้า รีบจัดหาให้พี่ชายอย่างรวดเร็ว ปี 1862 เครื่องไม้เครื่องมือหลากชนิดเดินทางถึงชรัมแบร์ก หลังจากนั้นอีกไม่นานซาแวร์ก็ตามมา
ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากโลกใหม่ สองพี่น้องตระกูลยุงฮานส์ร่วมกันออกแบบผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาตามสไตล์อเมริกัน นั่นคือการกระจายงานเพื่อประหยัดต้นทุน ปรากฏว่าได้ผลดีเกินคาด ไม่ช้าสองพี่น้องผู้ทะเยอทะยานก็สังเกตเห็นว่า กิจการสามารถเติบใหญ่กว่าเดิมได้อีกหากพวกเขาทยอยผลิตนาฬิกาสำเร็จรูปออกมาขาย โปรเจ็กต์ใหม่ของพวกเขาเริ่มขึ้นในปี 1866 และสองปีต่อมาพนักงาน 72 คนของบริษัทสามารถผลิตนาฬิกาได้ถึงสัปดาห์ละ 360 เรือน กระทั่งตอนที่แอร์ฮาร์ด ยุงฮานส์เสียชีวิตในเดือนกันยายน 1870 โรงงานของเขาสามารถผลิตนาฬิกาได้วันละ 100 เรือนแล้ว
ครั้นเมื่ออาร์ทัวร์ ยุงฮานส์ (Arthur Junghans) ลูกชายของเขาเข้ามารับช่วงต่อ กิจการของบริษัทเริ่มกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศ และมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ปี 1875 มีการเปิดตัว ‘Werk Nr.10’ (ผลงานหมายเลขสิบ) อันเป็นซีรีส์นาฬิกาปลุก และแน่นอนว่า มันกลายเป็นสินค้าที่สร้างชื่อในระดับโลกเช่นกัน
จุดพีคของ Junghans เกิดขึ้นในปี 1904 เมื่อโรงงานผลิตนาฬิการวมกันทั้งหมดได้ 4.2 ล้านเรือน และสามารถทำยอดจำหน่ายได้ถึง 12 ล้านไรช์มาร์ก (มูลค่าปัจจุบันราว 1.5 พันล้านบาท) ปี 1906 นาฬิกาปลุกแบบพกพาเริ่มเข้าสู่สายพานการผลิต ปี 1911 อาคารที่ทำการของบริษัททั้ง 92 หลังมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 4,120 คน และเจ้าหน้าที่รักษาการณ์อีก 255 คน เครื่องจักรจำนวน 4,560 เครื่องสามารถผลิตนาฬิกาต่อวันได้สูงถึง 14,000 เรือน ถึงอย่างนั้นการออกแบบผลิตเรือนเวลาสำหรับข้อมือก็ยังไม่มีในความคิดของ Junghans
กระทั่งปี 1928 เมื่อกิจการตกมาอยู่ในความดูแลของเฮลมุท และซีกฟรีด ยุงฮานส์ (Helmut & Siegfried Junghans) จึงเริ่มมีการทบทวนนโยบายและท่าทีของบริษัท แต่ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเป็นรูปธรรม จนมาถึงปี 1940 พวกเขาเริ่มก่อตั้งศูนย์วิจัยนาฬิกาขึ้น สำหรับฝึกอบรมพนักงานเพื่อการพัฒนาและออกแบบผลิตนาฬิกาด้วยเทคนิคที่ทันสมัยยิ่งขึ้น
แต่แผนการไม่ได้ลุล่วงตามเป้าหมาย วันที่ 20 เมษายน 1945 กองทัพฝรั่งเศสได้เคลื่อนพลถึงชรัมแบร์ก Junghans ตกอยู่ในความควบคุมและถือครองของฝรั่งเศส เหตุเพราะบริษัทเคยให้การสนับสนุนด้านกลไกและอุปกรณ์เทคนิคแก่กองทัพนาซี ความพ่ายแพ้ในสงครามของเยอรมนีทำให้ทุกอย่างชะงักงัน ทุกอย่างผ่านไปอย่างเชื่องช้าในขณะที่ความพร้อมและความมุ่งมั่นยังคงอยู่ จนกระทั่งในปี 1949 ถึงได้เวลา Junghans กลับมาอีกครั้งพร้อมเปิดตัวนาฬิกาโครโนกราฟที่ใช้แฮร์สปริงเบรเกต์ Caliber J88 ครั้งแรกหลังสงคราม และนับตั้งแต่ปี 1956 เป็นต้นมา Junghans ยังได้รับเลือกให้เป็นผู้ผลิตนาฬิกาโครโนกราฟสำหรับนักบินของกองทัพอากาศเยอรมัน หลังจากที่เพิ่งออก Minivox นาฬิกาปลุกบนข้อมือ ให้เป็นที่กล่าวขานถึงก่อนหน้านั้นไม่นาน
นอกจากนั้น Junghans ยังมุ่งมั่นกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตนาฬิกาข้อมือให้มีความแม่นยำสูงสุด ในปี 1956 Junghans มีชื่อติดอันดับสามถัดจาก Rolex และ Omega ในฐานะผู้ผลิตนาฬิกาโครโนมิเตอร์ได้มาตรฐานความเที่ยงตรงแม่นยำของโลก และมียอดขายสูงถึง 10,000 เรือนต่อปี แต่บทบาทของ Junghans ก็สิ้นสุดลงในปี 1967 เมื่อนาฬิกาข้อมือชั้นนำใหม่ๆ เริ่มหันมาใช้กลไกอิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมการทำงาน
ปี 1976 แม้กลไกควอตซ์จะเริ่มเข้ามามีบทบาทที่ Junghans อย่างเต็มรูปแบบ แต่ตลอดระยะเวลา 46 ปีของโรงงานในชรัมแบร์กก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตกลไกคาลิเบอร์ระบบไขลานมากกว่า 150 รายการ
หลังจากการวิจัยที่ยาวนาน ปี 1985 Junghans มีชื่อกลับเข้ามาในวงการอีกครั้งด้วยนาฬิกาตั้งโต๊ะที่ควบคุมด้วยคลื่นวิทยุเป็นครั้งแรก ความสำเร็จครั้งนั้นเป็นแรงกระตุ้นให้ต้องวิจัยและพัฒนาต่อไป จนสำเร็จออกมาเป็นนาฬิกาข้อมือที่ใช้คลื่นวิทยุในการทำงาน ปีถัดมาก็เริ่มมีนาฬิกาดิจิทัลที่ใช้สัญญาณบอกเวลาแบบอะนาล็อก ตามมาด้วยนาฬิกาโซลาเซลล์ที่มีพลังขับเคลื่อนไม่จำกัดในปี 1993
นับตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2008 Junghans เปลี่ยนไปอยู่ในมือของ Egana บริษัทเครือข่ายนาฬิกาและเครื่องประดับขนาดใหญ่ที่มีฐานหลักอยู่ในฮ่องกง และนั่นเป็นช่วงเวลาการมาถึงของระบบออโตเมติกคาลิเบอร์ J 830 และ J 890 (โครโนกราฟ)
ภายหลังบริษัทแม่ในจีนประสบปัญหาล้มละลาย ช่วงปี 2008 นาฬิกาสัญชาติเยอรมันดูเหมือนจะตกอยู่ในภาวะนิ่งงัน มืดมน จนกระทั่งมีอัศวินเข้ามาช่วยกอบกู้ นั่นคือ ดร.ฮานส์-โยอาคิม ชไทม์ (Dr. Hans-Joachim Steim) นักธุรกิจและนักการเมืองรุ่นปี 1942 ซึ่งเป็นคนพื้นเพเมืองชรัมแบร์ก ถึงตอนนั้น Junghans ไม่เพียงแต่รอดชีวิตเท่านั้น หากยังกลับมาเติบโตรุดหน้าอีกครั้ง
ภายใต้การบริหารของมัตเทียส ชท็อตซ์ (Matthias Stotz) ปรัชญากลไกจักรกลถูกเขียนขึ้นใหม่ ยึดธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมเป็นแกนหลักในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และยังยืนหยัดกับการทำงานบุกเบิก ทั้งด้านการพัฒนานาฬิกาโซลาร์ รวมถึงเทคโนโลยีนาฬิกาคลื่นวิทยุ จนทำให้ Junghans สามารถกลับมาครองตลาดนาฬิกาหรูในเยอรมนีบ้านเกิดได้อีกครั้ง
Junghans มีจุดวางสินค้าในเยอรมนีที่เป็นตลาดสำคัญอยู่ราว 450 แห่ง และขยายตลาดนานาชาติเพิ่มเติมกว่า 500 แห่งใน 25 ประเทศ กลยุทธ์หลักของ Junghans ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาคือคอลเล็กชัน ‘Junghans Meister’ และ ‘max bill by junghans’ รวมถึงไลน์ ‘Driver’ ที่มาจากความคลั่งไคล้ในรถโอลด์ไทเมอร์ของเจ้าของกิจการคนใหม่
Junghans ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเป็นผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่ที่สุดของโลก ปัจจุบันยังมีตัวตนที่โลกรู้จัก ในอีกรูปแบบหรือสไตล์ของนาฬิกาหรู
Crazy Dial มีเป้าหมายที่จะเป็น Creative StoryTelling สื่อเน้นการเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างสังคมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อมูลนาฬิกา สร้างแรงบรรดาลใจให้กับคนที่ชื่นชอบนาฬิกามือใหม่ รวมถึงนักสะสมนาฬิกามือเก่า ขอบคุณที่มาเป็นส่วนนึง และร่วมแบ่งบันประสบการณ์ไปพร้อมๆกัน กับ Crazy Dial