ถามจริง Rolex เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร!

ฟังดูตลกและนักสังคมออนไลน์โลกนาฬิกาหรูมักออกอาการเย้ยเหยียดหรือผรุสวาทผ่านคีย์บอร์ด เมื่อพูดว่า Rolex เป็น Non-Profit Company ก่อนจะเกรียนอย่างใครๆ เขา เราควรเปิดใจ ไปสืบดูให้แน่ชัดก่อนไหม กับความหมายที่ว่าองค์กรไม่แสวงผลกำไรของ Rolex นั้นมีความเป็นมาอย่างไร และดำเนินคุณูปการใดตอบแทนสังคมโลก และมาตุภูมิของตัวเองบ้าง

╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝

ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น – เป็นทั้งเจ้าของและองค์กรไม่แสวงผลกำไร

โลกรู้ว่า Rolex เป็นกลุ่มบริษัทสวิสจดทะเบียนที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นำโดย Rolex S.A. แต่ความจริง Rolex กำเนิดขึ้นครั้งแรกบนแผ่นดิน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดย Hans Wilsdorf ผู้ก่อตั้งชาวเยอรมัน ก่อนระหกระเหินย้ายไปยังเจนีวา หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง ด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงเรื่องภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะทองคำ วัตถุดิบการผลิตนาฬิกาหรูนั้นสูงลิบลิ่ว

 

กระทั่งในปี 1920 ได้จดทะเบียนบริษัทในชื่อ Montres Rolex S.A. (และเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน) โดย Hans เป็นเจ้าของหุ้นทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว เรื่องราวทุกอย่างเปลี่ยนไป หลังภรรยาของเขา Florence Frances May Wilsdorf-Crotty ได้เสียชีวิตลงในปี 1944 เมื่อต้องอยู่ตามลำพังไร้ทายาทสืบสกุลและสืบทอดกิจการ เจ้าตัวจึงตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อรำลึกถึงภรรยา และพิทักษ์แบรนด์ Rolex ให้มั่นคงต่อไปในอนาคต

 

นี่จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง Hans Wilsdorf Foundation ขึ้นในปี 1945 โดยตัวเขายกหุ้นทั้งหมดมอบกับมูลนิธินับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Rolex ก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทั้งองค์กรที่ดำเนินกิจการธุรกิจด้วยตัวเอง โดยมีมูลนิธิ Hans Wilsdorf ภายใต้กฎหมายของสวิส เป็นผู้ควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่ง

 

องค์กรไม่แสวงผลกำไรเหมือนกันแต่กฎหมายต่างกัน

นักสังคมออนไลน์ที่มักจิกเหน็บแนม Rolex ด้วยความเข้าใจอย่างกว้างๆ หากยึดตามหลักกฎหมายแห่งสหรัฐอเมริกา ต่อความเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรแล้ว ย่อมไม่อาจสร้างผลกำไรใดๆ จากการดำเนินการทางธุรกิจ และจำเป็นต้องเปิดเผยบัญชีใช้จ่ายต่างๆ สู่สาธารณชน ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นในใจทันที เมื่อบริษัทรับรู้กำไรประมาณ 1 พันล้านฟรังก์ต่อปี โดยมีอัตรากำไรสุทธิประมาณ 20% (แน่นอนว่าแตกต่างกันไปในแต่ละปี)

 

ทว่าภายใต้กฎหมายของสวิส ไม่มีภาระผูกพันใดๆ ให้ Rolex S.A. และ Hans Wilsdorf Foundation ต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของพวกเขา แน่นอนว่า ไม่ว่าใครก็ตาม จึงไม่อาจล่วงรู้ว่าเม็ดเงินเหล่านี้ใช้ดำเนินการกับบริษัท อยู่ในธนาคาร หรือใช้ไปกับมูลนิธิฯ เท่าไหร่ เป็นความลับดำมืดที่แม้แต่รัฐบาลสวิสฯ ยังไม่อาจตอบได้

 

อย่างไรก็ตาม ลำพังดูจากเนื้องาน 3 แกนหลักของมูลนิธิ ได้แก่ Social Action, Training/ Education และ Culture ที่มูลนิธิฯ รับผิดชอบ ตัวอย่างโครงการ The Rolex Awards for Enterprise และโครงการ Protégé Arts Initiative ที่สนับสนุนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในด้านศิลปะ เห็นได้ชัดเจนว่างานนี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโลกและประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาโดยตลอด

 

ร้อยล้านคำพูด ไม่เท่าหนึ่งการกระทำ

ยังมีงานการกุศลที่มูลนิธิฯ ดำเนินการขับเคลื่อนเป็นฉากหลังซึ่งน้อยคนนักจะรู้อยู่อีกมากมาย เกินไปกว่าคำถามเปลือกๆ ถึงความเป็น Non-Profit Company ของ Rolex ที่ให้บรรดาเหล่านักสังคมออนไลน์ตั้งเป็นหัวข้อคุยกันเล่นๆ เอามัน เอาขำ เอาสนุก อย่างที่เห็นกันดาษดื่น แล้วไม่ว่าเม็ดเงินเหล่านี้จะมากน้อย ไม่รู้คิดเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์จากผลกำไรทั้งหมดก็ตามที การตัดสินใจก่อตั้งมูลนิธิฯ ของ Hans Wilsdorf ครั้งนั้น ได้ยังประโยชน์ให้แก่กรุงเจนีวาและโลกอย่างเห็นจริง อย่างน่าภูมิใจ และอย่างไม่มีใครอาจปฏิเสธได้ทั้งนั้น

 

ส่วนตัวคุณเองก็ลองขยับตำแหน่งแห่งหนตัวเองเป็นผู้ให้สักครั้ง หันมาภูมิใจ Rolex ที่อยู่บนข้อมือของคุณ ว่ากำลังทำหน้าที่ส่งเรื่องราวดีๆ ผ่านงานกุศลมากมายทั่วโลกในทุกวินาทีอยู่ ดีกว่ามัวนึกถึงแค่เงินตรา และราคาขึ้นลงให้ปวดหัว อาจเป็นอะไรที่สุขใจมากกว่า อย่างที่คุณไม่เคยสัมผัส รับรู้สึกมาก่อนเลย ก็เป็นได้

 


ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของแวดวงนาฬิกาได้ที่นี่…

Crazy Dial – The Watch Community

Line : @crazydial

Instagram : crazydial.official

Facebook : crazydial.official

Website : www.crazy-dial.com

Youtube : Crazy Dial Official

Tiktok : crazydial