Crazy dial ขอติวขาช้อป สายหอบนาฬิกานำเข้า ไม่ว่าจะทำกันอย่างมืออาชีพหรือสมัครเล่นก็ตามที ต้องทำให้ถูกต้องตามข้อกฎหมาย เพราะการเสียภาษีนำเข้าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะโนสนโนแคร์กันได้ ผิดพลาดนิดเดียวมีสิทธิ์เข้าไปนั่งเต๊ะในซังเตโดยไม่รู้ตัว
สองคำจำให้แม่น ‘ของต้องห้าม’ และ ‘ของต้องกำกัด’ ต่างกันอย่างไร
╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝
‘ของต้องห้าม’ หมายถึง ของที่ห้ามนำเข้ามาหรือส่งออกไปต่างประเทศ อาทิ สารเสพติด วัตถุหรือสื่อลามก ของเลียนแบบ เครื่องหมายการค้า หรือของละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ที่อยู่ในบัญชีควบคุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือที่เรียกว่า อนุสัญญาไซเตส (Cites = Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora)
‘ของต้องกำกัด’ หมายถึง ของบางชนิดที่กฎหมายควบคุมการนำเข้ามาและการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งการจะนำเข้ามาหรือส่งออกไปจะต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก่อน และต้องนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรด้วย อาทิ พระพุทธรูป ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และอื่นๆ ตามข้อกำหนด
ต่อคำถามที่ว่า ใครบ้างที่ต้องสำแดงสิ่งของเพื่อการเสียภาษีนำเข้า คำตอบคือ ผู้โดยสารเป็นสายช้อปทุกท่านที่นำของมูลค่าเกิน 20,000 บาทเข้าประเทศ หรือของที่เป็นลักษณะเชิงพาณิชย์ แม้จะมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งอัตราภาษีนำเข้าแตกต่างกันตามแต่ชนิดและประเภทของสินค้า
สำหรับสายช้อปชอบหิ้วนาฬิกาหรูเข้าประเทศจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 5% จากราคาตามใบเสร็จ ยังไม่นับรวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ที่ต้องจ่ายให้กับรัฐ ในกรณีไม่มีใบเสร็จติดมาหรือดันทำหาย ก็ไม่ใช่ปัญหา เจ้าหน้าที่เขาจะดูราคาจากฐานข้อมูลหรือดูจากเว็บไซต์ที่จำหน่ายสินค้าดังกล่าว จากนั้นจะทำการเปรียบเทียบราคาเพื่อหาตัวเลขในการเสียภาษีนำเข้า นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า หากคุณไปซื้อของในราคาเซลแล้วดันทำใบเสร็จหาย และเมื่อเจ้าหน้าที่ไปสืบค้นข้อมูลแล้วไปเจอราคากลางที่ไม่ได้เป็นราคาช่วงโปรโมชั่นอย่างที่คุณได้มา อันนี้ก็ซวยไป เพราะคุณต้องจ่ายภาษีนำเข้าตามราคากลางของข้อมูล เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ ควรอย่างยิ่งที่จะเก็บใบเสร็จของสินค้าดังกล่าวนั้นไว้ให้ดี
เพื่อให้เห็นภาพ ขออนุญาตยกสูตรคำนวณภาษีนำเข้ามาให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1. ราคาสินค้า x อัตราภาษีขาเข้า = อากรขาเข้า
ขั้นตอนที่ 2. (ราคาสินค้า + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% = ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ขั้นตอนที่ 3. อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม = ค่าภาษีนำเข้าทั้งหมดที่ต้องชำระ
และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นอีก จะขอยกตัวอย่างดังนี้ ในกรณีที่คุณหิ้วนาฬิกามาหนึ่งเรือนในราคา 250,000 บาท
250,000 x 5% = 12,500
(250,000+12,500) x 7% = 18,375
สรุปค่าภาษีนำเข้าที่คุณต้องชำระทั้งสิ้นคือ 12,500 + 18,375= 30,875 บาท
คราวนี้คุณจะหิ้วนาฬิกาแบรนด์ดังเข้าประเทศ ก็สามารถนำสูตรนี้ไปคิดสมการตัวเลขด้วยตัวเองได้เลย เพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องเสียภาษีนำเข้าในราคาเท่าไหร่ จะได้เตรียมเงินในกระเป๋าไว้ให้พร้อม ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่เขาวุ่นหาเงินทอนให้ยุ่งยาก
หมายเหตุ :
– หากขาช้อปเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร กฎหมายศุลกากรกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรไว้สูงสุดคือ ให้ริบของที่หลีกเลี่ยงภาษีอากร และปรับเงินเป็นจำนวน 4 เท่าของราคาของรวมค่าภาษีอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับและจำ
– หากสายช้อปเจตนาสำแดงเท็จ กล่าวคือ เจตนาสำแดงใดๆ เกี่ยวกับการนำเข้าไม่ตรงกับหลักฐานเอกสารและข้อเท็จจริงในการนำเข้า อาทิ การปลอมแปลงหรือใช้เอกสารอันเป็นเท็จ กฎหมายศุลกากรกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดฐานสำแดงเท็จไว้สูงสุดคือ ปรับเป็นเงินไม่เกิน 50,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน
หวังว่าข้อมูลทั้งหมดนี้คงพอมีประโยชน์สำหรับขาช้อปสายหอบนาฬิกานำเข้าได้บ้างไม่มากก็น้อย
Crazy Dial มีเป้าหมายที่จะเป็น Creative StoryTelling สื่อเน้นการเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างสังคมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อมูลนาฬิกา สร้างแรงบรรดาลใจให้กับคนที่ชื่นชอบนาฬิกามือใหม่ รวมถึงนักสะสมนาฬิกามือเก่า ขอบคุณที่มาเป็นส่วนนึง และร่วมแบ่งบันประสบการณ์ไปพร้อมๆกัน กับ Crazy Dial