‘OFFICINE PANERAI’ จากความจงรักภักดีต่อกองทัพ สู่ความคลาสสิกของเรือนเวลา

หากไม่นับ Rolex ละก็ แทบไม่มีนาฬิกาแบรนด์ไหนจะมีประวัติความเป็นมาที่โดดเด่น เหมือนเช่น Officine Panerai อันเป็นชื่อเดิมของนาฬิกาสัญชาติอิตาเลียน ที่นับแต่ปี 1997 เป็นต้นมาได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของริชมอนต์ กรุ๊ป

╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝

                จิโอวานนี พาเนราย (Giovanni Panerai) ก่อตั้งกิจการขึ้นในฟลอเรนซ์เมื่อปี 1860 ใช้ชื่อของเขาเปิดร้านขายนาฬิกาเล็กๆ บนสะพานปอนเต อัลเล กราซี ต่อมาถึงค่อยย้ายกิจการไปที่จัตุรัสซาน จิโอวานนีใกล้วิหารโดม ร้านของเขาเปิดขายนาฬิกาสวิสเป็นหลัก และตั้งชื่อร้านใหม่ว่า ‘Orologeria Svizzera’ (ร้านนาฬิกาสวิส)

 

พาเนรายค่อยๆ พัฒนานาฬิกาของตนเองตามกาลเวลา และใช้กระบวนการผลิตตามแบบนาฬิกาสวิส ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองกองทัพเรือของอิตาลีเริ่มให้ความสนใจในธุรกิจครอบครัวนี้ กระทั่งในปี 1935 ก็ได้มอบหมายให้พาเนรายพัฒนานาฬิกาสำหรับดำน้ำที่มีตัวเลขบอกเวลาเรืองแสง ผลลัพธ์ที่ได้คือนาฬิกาข้อมือเครื่อง Cortébert ตัวเรือนขนาด 47 มิลลิเมตร รูปทรงกล่อง สายหนังยาวเพื่อใช้สวมทับชุดดำน้ำ

 

แต่เนื่องจากพาเนรายไม่มีกำลังในการผลิตเพียงพอ จึงได้ขอความร่วมมือจาก Rolex ซึ่งขณะนั้นทาง Rolex เพิ่งมี Oyster เรือนแรกที่เป็นนาฬิกากันน้ำ และมีตัวเรือนรูปทรงเดียวกัน พาเนรายสามารถส่งมอบนาฬิกาต้นแบบให้กับกองทัพเรืออิตาลีได้ในปี 1936 ได้เพียง 10 เรือน ซึ่งนั่นเป็นนาฬิกาต้นแบบชื่อ Radiomir ที่พาเนรายใช้เวลาพัฒนารุ่นนี้จนสำเร็จภายในสองปี และมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน มีข้อสังเกตง่ายตรงตัวเรือนโลหะรูปทรงกล่องขนาด 47 มิลลิเมตร ตัวเลขและเข็มนาฬิกาเรืองแสง และสายกว้างกันน้ำ

 

ระหว่างที่ร้าน Orologeria Svizzera ที่จัตุรัสซาน จิโอวานนียังเปิดขายนาฬิกาสวิสให้กับชาวเมืองทั่วไป พาเนรายยังมีสำนักงานภายใต้ชื่อ Officina Meccanica di Precisione Guido Panerai ที่เร่งพัฒนาอุปกรณ์ป้อนให้กับกองทัพ และชื่อ ‘Officina’ นั้นเป็นชื่อที่ใช้สำหรับอุปกรณ์เรืองแสง (ซึ่งพัฒนาต่อจาก Radiomir สารเรเดียมเรืองแสงใช้สลักเป็นตัวเลขที่กองทัพให้ความสนใจมาตั้งแต่ตอนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) และอุปกรณ์กันน้ำที่ใช้ในการแข่งขันดำน้ำ

 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพาเนรายยังคิดค้น ‘เวสป้าดำน้ำ’ หรือเรือดำน้ำที่มีลักษณะคล้ายตอร์ปิโด ที่หน่วยนาวิกโยธินของกองทัพเรืออิตาลีใช้ขับเคลื่อนใต้น้ำได้ และ ‘Siluro a Lenta Corsa’ (SLC) หรือที่เรียกว่าพาหนะ ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้ระหว่างที่ท่าเรือของอิตาลีถูกยึดครอง ในการนำระเบิดไปติดตั้งใต้น้ำขณะเรือของศัตรูทอดสมอโดยไม่เป็นที่สังเกต

 

นอกจากนั้น Officine Panerai ยังผลิตอุปกรณ์สำหรับนักดำน้ำ เช่น เข็มทิศกันน้ำสำหรับสวมที่ข้อมือ มีดใต้น้ำติดข้อมือ มาตรความเอียงสำหรับ SLC ไฟฉายที่ใช้ใต้น้ำ และนาฬิกา อุปกรณ์ทุกชนิดสามารถใช้งานได้ในที่มืด นั่นเพราะส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์สำหรับปฏิบัติการในตอนกลางคืน

 

หลังจากสงครามสิ้นสุดลง อุปกรณ์ทางการทหารเริ่มเป็นที่ต้องการน้อยลง แต่พาเนรายยังมีความจงรักภักดีต่อกองทัพ ยังคงผลิตตัวเรือนนาฬิการูปทรงกล่อง เพียงแต่ปรับแต่งและเปลี่ยนสายให้เหมาะกับข้อมือมากขึ้น ปี 1949 Officine Panerai ได้รับสิทธิบัตรสำหรับสารเรืองแสงชนิดใหม่ ‘Luminor’ (มาจากคำว่า ‘luminoso’ แปลว่า เรืองแสง และ ‘orologio’ แปลว่า นาฬิกา) ผลิตจากทริเทียม (Tritium) ที่มีสารกัมมันตภาพรังสีน้อยกว่าเรเดียม และนาฬิการุ่น Luminor ก็มาแทนที่ Radiomir นับจากนั้น

 

เมื่อจุยโด พาเนราย (Guido Panerai) เสียชีวิต จุยเซปเป (Giuseppe) ผู้เป็นบุตรชายก็รับช่วงกิจการต่อ ร่วมกับวิศวกรซึ่งเป็นทหารเรือชื่อ ดิโน ไซ (Dino Zei) เปลี่ยนชื่อเครื่องหมายการค้าเป็น Officine Panerai S.r.L ซึ่งปรากฏอยู่บนนาฬิกาทุกเรือนในช่วงเวลานั้น แต่บทบาทสำคัญของธุรกิจครอบครัวนับจากช่วงเวลานั้นคือ การรับใช้กองทัพเรืออิตาลี มากกว่าการพัฒนาเพื่อผลิตนาฬิกาออกสู่ตลาด

 

ปี 1972 เมื่อจุยเซปเปเสียชีวิต ดิโน ไซจึงซื้อกิจการต่อจากภรรยาหม้ายและสมาชิกครอบครัวพาเนราย จุดประสงค์เพื่อขยายฐานการผลิตนาฬิกาป้อนตลาดมากกว่าเดิม แต่ขณะนั้นดูเหมือนเวลายังไม่สุกงอม เพราะความนิยมของตลาดต้องเป็นนาฬิกาเรือนเล็กและบางเท่านั้น

 

ล่วงเลยมาถึงปี 1995 นับว่าโชคดีที่แบรนด์ยังคงอยู่ ตอนที่ซิลเวสเตอร์ สตอลโลนไปพบเจอนาฬิกาเรือนที่ต้องตาในดิสเพลย์ของร้านที่ฟลอเรนซ์ เขาซื้อมันและสวมเข้าฉากในหนังเรื่อง ‘Daylight’ หลังจากนั้นเขายังสั่งซื้อรุ่น Luminor สำหรับแจกเพื่อนฝูง หนึ่งในนั้นคืออาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ที่สวมเข้าฉากในหนังเรื่อง ‘Eraser’ ด้วยเช่นกัน

 

แค่นั้นก็เพียงพอสำหรับการปลุกกระแส ให้ชื่อของแบรนด์ที่คล้ายจะหลับใหลมาอย่างยาวนานได้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง จนทำให้ฟรังโก โคลอนญี (Franco Cologni) เจ้าของวองโดม กรุ๊ปในอดีต ปัจจุบันเป็นชื่อเป็นริชมอนต์ เกิดสนใจแบรนด์นี้ และหว่านล้อมให้โจฮันน์ รูเพิร์ต (Johann Rupert) หุ้นส่วนใหญ่ชาวแอฟริกันใต้ ซื้อกิจการเข้าไปอยู่ในเครือ การเจรจาซื้อขายสำเร็จในปี 1997

 

หลังจากนั้นได้มอบหมายให้อังเจโล โบนาติ (Angelo Bonati) เข้ามาฟื้นฟูกิจการ เริ่มจากโต๊ะทำงานตัวเดียวในเวลานั้น จนถึงปัจจุบันแบรนด์ Panerai มีพนักงานหญิงและชายรวม 255 คน มีโรงงานทันสมัยแห่งใหม่ที่สร้างแล้วเมื่อปี 2014 และนับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา Panerai เริ่มพัฒนากลไกคาลิเบอร์ ทุกวันนี้มีทั้งหมด 20 รุ่น ครึ่งหนึ่งเป็นกลไกไขลานอัตโนมัติ

 

คาแรกเตอร์ของนาฬิกา Panerai ที่ดีไซเนอร์ออกแบบมาจวบถึงปัจจุบัน มีรุ่นใหม่ออกมาทุกปี และทุกรุ่นล้วนดูราวกับพัฒนาออกแบบเพื่อกองทัพ สำหรับใครที่ไม่คุ้นกับนาฬิกาแบรนด์นี้อาจเป็นเรื่องยากที่จะจำแนกความแตกต่างของเวอร์ชันต่างๆ ได้

 

แต่สำหรับแฟนพาเนราย หรือที่เรียกว่า ‘Paneristi’ แล้ว ทุกรุ่นทุกแบบย่อมมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน…แน่นอน


ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของแวดวงนาฬิกาได้ที่นี่…

Crazy Dial – The Watch Community

Line : @crazydial

Instagram : crazydial.official

Facebook : crazydial.official

Website : www.crazy-dial.com

Youtube : Crazy Dial Official

Tiktok : crazydial