การพิชิตอวกาศของมนุษยชาติเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ชื่อ Sputnik 1 นั้น สหภาพโซเวียตรัสเซียเป็นคนส่งขึ้นไปเมื่อปี 1957 ในช่วงสงครามเย็น ยานสปุตนิคได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับศัตรูอย่างมหาอำนาจอเมริกา เป็นเหตุผลให้มีการก่อตั้งองค์การนาซา (National Aeronautics and Space Administration) ขึ้น และหลังจากที่ยานดาวเทียมของโซเวียตกลับสู่พื้นโลกพร้อมความสำเร็จ เป้าหมายสำคัญของทั้งสองประเทศมหาอำนาจถัดจากนั้นคือ การพิชิตดวงจันทร์
╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝
1959 หรือสองปีต่อมา ยาน Lunik 2 ของโซเวียตร่อนแตะพื้นผิวดวงจันทร์ ยานลูนิคโคจรไปรอบดวงจันทร์ และบันทึกภาพด้านข้างของดวงจันทร์ที่หันหน้าออกจากโลกเป็นครั้งแรก ปี 1961 Yuri Gagarin เป็นพลเมืองโซเวียตคนแรกที่โคจรรอบโลก ส่วน Alexei Leonov เพื่อนร่วมชาติ เป็นคนแรกที่ผละออกจากยานอวกาศ และสหภาพโซเวียตอีกเช่นกัน เป็นชาติแรกที่นำยานอวกาศลงจอดบนผิวดวงจันทร์อย่างนิ่มนวลในปี 1966
สามปีถัดจากนั้น นักบินอวกาศชาวอเมริกันถึงตามขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ การเดินทางไปเยือนดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 1972 หลังจากนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านยานอวกาศพากันเบนความสนใจไปที่จุดหมายปลายทางใหม่ นั่นคือ ดาวอังคาร ซึ่งการทดลอง ‘Mars-500’ โดยความร่วมมือกันระหว่างสถานีอวกาศ Roskosmos ของรัสเซีย และ ESA (European Space Agency) ของยุโรป และ CNSA (China National Space Administration) ของจีน มีขึ้นในปี 2011 เที่ยวบินสู่ดาวอังคารในห้องจำลองระยะเวลา 520 วันบรรลุผลสำเร็จ กรณีศึกษาของนาซาสรุปในปี 2015 ว่าการเดินทางโคจรรอบดาวอังคารของมนุษยชาติจะเป็นไปได้จริงในปี 2033 และการนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารครั้งแรกจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในปี 2039
พร้อมกันกับมนุษย์คนแรกบนพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลของอวกาศ ยังมีนาฬิกา อุปกรณ์สำคัญชิ้นหนึ่งของนักบินอวกาศ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย นักบินอวกาศจึงต้องมีนาฬิกาข้อมือติดไปด้วยเสมอ Crazy Dial มีคำตอบให้คุณที่ตรงนี้ว่า นาฬิกา 3 เรือนแรกที่มีบทบาทพิเศษในการพิชิตอวกาศนั้นมีอะไรบ้าง มาดูกันครับ…
#1 OMEGA SPEEDMASTER MOONWATCH
เมื่อครั้งที่ Edwin ‘Buzz‘ Aldrin ย่างเท้าก้าวลงเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 1969 ทิ้งระยะห่างจาก Neil Armstrong ราว 13 นาที ที่ข้อมือของเขามีนาฬิกาโครโนกราฟ Omega Speedmaster สวมอยู่ มันเป็นนาฬิกาที่องค์การนาซาเลือกใช้อย่างเป็นทางการ และได้รับฉายานับแต่นั้นว่า Moonwatch หลังจากนั้น Omega ได้พัฒนาต่อเนื่องโดยที่แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรจากต้นแบบเดิม นอกจากเพิ่มเติมข้อความที่ด้านหลังเรือนเวลาว่า ‘FLIGHT-QUALIFIED BY NASA FOR ALL MANNED SPACE MISSIONS’ และ “THE FIRST WATCH WORN ON THE MOON’ เป็นการตอกย้ำคุณภาพที่ผ่านการทดสอบขององค์การนาซา ในการปฏิบัติภารกิจในอวกาศ และจารึกว่าเป็นนาฬิการุ่นแรกที่ถูกสวมใส่บนดวงจันทร์
#2 FORTIS COSMONAUT CHRONOGRAPH
นาฬิกาสัญชาติสวิสแบรนด์นี้มีชื่อเสียงในแวดวงอวกาศมากว่า 50 ปีแล้ว หลังจากได้รับเลือกเป็นอุปกรณ์ในโครงการอวกาศ Soyuz และหลังจากนั้นนาฬิกา Cosmonaut Chronograph ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์สำหรับนักบินอวกาศรัสเซียอย่างเป็นทางการ อีกทั้งสมาชิกนักบินของสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ก็มักจะพกพานาฬิกาติดตัวไปด้วยเสมอ แรกเริ่มเดิมที Fortis ได้ออกแบบโครโนกราฟเป็นรุ่นพิเศษแบบจำกัดจำนวนเพื่อโครงการศิลปะ แต่ทุกวันนี้นาฬิกาเรือนสเตนเลสสตีลขนาด 42 มิลลิเมตรก้าวล้ำไปด้วยกลไกออโตเมติก Eta-Valjoux 7750 นอกเหนือจากฟังก์ชันจับเวลาแล้ว มันยังสามารถระบุวันที่และวันในสัปดาห์ และ Fortis ได้เพิ่มฟังก์ชันการเตือนและตัวบ่งชี้โซนเวลาที่สองอีกด้วย
#3 SINN SPEZIALUHREN CHRONOGRAPH 142
ปี 1985 Reinhard Furrer นักบินอวกาศและนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน สวมนาฬิกา Chronograph 142 ของ Sinn Spezialuhren ท่องอวกาศไปกับ Spacelab Mission D1 ด้วยเหตุนี้ทำให้นาฬิกาเรือนนี้กลายเป็นโครโนกราฟระบบไขลานอัตโนมัติเรือนแรกที่มีโอกาสขึ้นไปสำรวจอวกาศ บริษัทเจ้าของแบรนด์ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ตมารู้ข่าวหลังจากการสำรวจอวกาศของ D1 สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ครั้งนั้นนาฬิกายังใช้ระบบกลไก Lemania 5100 ซึ่งปัจจุบันไม่การผลิตอีกแล้ว ดังนั้น Sinn จึงพัฒนาเกณฑ์วัดใหม่ให้สอดคล้องกับกลไก Eta-Valjoux 7750 ปัจจุบัน Sinn ผลิตออกมาเป็น Chronograph 140 ที่มีลักษณะเหมือนกับรุ่น 142 ในอดีต
นอกจากนั้นยังมีเรือนเวลาอื่นๆ ในอวกาศ อาทิ…
Rolex GMT-Master ตั้งแต่ชุดปฏิบัติการยานอพอลโลแล้ว ที่นักบินอวกาศเลือกที่จะนำ Rolex GMT-Master ติดตัวไปด้วย ซึ่งนาฬิการุ่นนี้ที่โด่งดังได้แก่รุ่นที่มีขอบหน้าปัด Pepsi จากปี 1968 (ref. 1675) ซึ่ง Ronald Evans นักบินอวกาศยานอพอลโล 17 เคยสวม และถูกนำออกประมูลเมื่อปี 2009
Pobeda ‘Shturmanskie’ นาฬิกาเรือนแรกในอวกาศที่ Juri Gagarin สวมขึ้นยานอวกาศไปด้วย Pobeda (แปลว่า ‘ชัยชนะ’ ในภาษารัสเซียน) เป็นแบรนด์จากกรุงมอสโก แต่ไม่นานหลังจาก Gagarin สำรวจอวกาศประสบผลสำเร็จ รัฐบาลโซเวียตได้สั่งให้เปลี่ยนชื่อแบรนด์เสียใหม่ว่า Poljot (เครื่องบิน) และเปิดตัวรุ่นใหม่ออกมาในปี 2011 เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีของปฏิบัติการสำรวจอวกาศ ตัวเรือนสเตนเลสสตีล 38 มิลลิเมตร พร้อมกลไกคาลิเบอร์ 2609
Heuer Stop Watch 2915A เป็นนาฬิกาจับเวลาที่ John Glenn ใช้สายยางผูกติดกับชุดนักบินของเขา ระหว่างเดินทางไปยาน Friendship 7 โคจรไปรอบโลกสามครั้งภายในเวลาเกือบสี่ชั่วโมงครึ่ง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1962 นี่ก็นับเป็นนาฬิกาจับเวลาเรือนแรกของบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาในสวิตเซอร์แลนด์ที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสบรรยากาศนอกโลก
Breitling Navitimer Cosmonaute เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 1962 นักบินอวกาศชื่อ Scott Carpenter ได้เดินทางออกไปในอวกาศพร้อมยาน Aurora 7 เพื่อโคจรรอบโลกสามครั้ง ที่ข้อมือของเขาสวมนาฬิกาสเตนเลสสตีล Breitling Navitimer Cosmonaute ที่ถูกผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษด้วยกลไก Venus 178 ซึ่งเข็มชั่วโมงบนหน้าปัดหมุนหนึ่งรอบเพื่อบอกเวลา 24 ชั่วโมง ห้าสิบปีให้หลัง Breitling ได้ผลิต Navitimer Cosmonaute ออกมาอีกครั้งแบบจำกัดจำนวน
Seiko Speed Timer Cal. 6139 นักบินอวกาศชาวอเมริกันชื่อ William Reid Pogue สวมนาฬิกาเรือนนี้ขึ้นปฏิบัติการบินบนยานสกายแล็บ 4 มิชชัน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 1973 และเป็นยานปฏิบัติการมีมนุษย์ควบคุมที่ใช้เวลาในการเดินทางโคจรในอวกาศนานที่สุด นักบินอวกาศกลับสู่พื้นโลกพร้อมนาฬิกา Seiko อีกครั้งอย่างปลอดภัยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1974
Omega Speedmaster Skywalker X-33 นักธรณีฟิสิกส์ชาวเยอรมัน Alexander Gerst ในฐานะนักบินอวกาศ ESA เดินทางไปพร้อมกับยานของสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เพื่อการทดลองและถ่ายภาพโลกเป็นเวลาครึ่งปี ในครั้งนั้นเขาสวมนาฬิกา Omega Speedmaster Skywalker X-33 ตัวเรือนขนาด 45 มิลลิเมตร ทำจากไทเทเนียมเกรด 2 น้ำหนักเบา ถูกออกแบบมาเพื่อนักบินอวกาศโดยเฉพาะ นอกจากบอกเวลาด้วยเข็มนาฬิกาแล้วยังมีแบบดิจิตอลดิสเพลย์ สำหรับบอกข้อมูลเวลาสามโซน การแจ้งเตือน โครโนกราฟ วันที่ และการนับเวลาถอยหลัง
Bulova Accutron Astronaut เป็นนาฬิกาที่นักบินอวกาศชาวอเมริกัน L. Gorden Cooper Jr. สวมติดข้อมือระหว่างเดินทางไปอวกาศพร้อมกับยาน Mercury-Atlas 9 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1963 เขาโคจรไปรอบโลก 22 ครั้ง ใช้เวลาในอวกาศนานกว่าผู้ปฏิบัติงานก่อนหน้าถึงห้าคนรวมกัน และเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่นอนหลับอยู่ในวงโคจรของโลก
Patek Philippe Nautilus เป็นนาฬิการาคาแพงที่สุดเรือนแรกที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสอวกาศกับนักบินชาวรัสเซียน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1992 ด้วยยาน Sonde Foton 8 ซึ่งถูกส่งขึ้นไปพร้อมจรวดโซเวียตจากฐานเพลเซตค์ ทางตอนเหนือของรัสเซีย Nautilus เรือนทองปฏิบัติหน้าที่สำรวจอวกาศครั้งนี้นาน 15 วัน
Halda Space Discovery นาฬิกาสัญชาติสวีเดนที่ถูกออกแบบเพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับนักบินอวกาศ ตัวเรือนสเตนเลสสตีลขนาด 45 มิลลิเมตร กลไกออโตเมติกคาลิเบอร์ H1920-SA หรือระบบควอตซ์มัลติฟังก์ชัน HS 2009-1 เคยได้รับเลือกโดยสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ถึง 7 ครั้ง หลังจากนั้น Halda ก็ผลิตออกมาจำหน่ายเพียง 128 เรือน
Crazy Dial มีเป้าหมายที่จะเป็น Creative StoryTelling สื่อเน้นการเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างสังคมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อมูลนาฬิกา สร้างแรงบรรดาลใจให้กับคนที่ชื่นชอบนาฬิกามือใหม่ รวมถึงนักสะสมนาฬิกามือเก่า ขอบคุณที่มาเป็นส่วนนึง และร่วมแบ่งบันประสบการณ์ไปพร้อมๆกัน กับ Crazy Dial