จับตา ‘New Norm’ การรวมตัวครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมนาฬิกาหรู

กลิ่นอายของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ตลาดนาฬิกาโลกเริ่มตั้งเค้า เมื่อปรากฏข่าวการล่มดีลซื้อกิจการบริษัทจิวเวลรีตัวแม่ Tiffany & Co. ของ LVMH อย่างไร้เยื่อใย มันบ่งบอกได้ถึงสถานการณ์ตลาดค้าปลีกสินค้าลักชัวรีทั่วโลกที่กำลังสั่นคลอนอย่างหนัก

╔════════════════╗
กดรับข่าวสารก่อนใครที่นี่
LINE : @crazydial
https://lin.ee/wKkm5PM
╚════════════════╝

แม้ยอดขายในโลกออนไลน์พุ่งขึ้นสวนทาง แต่ยังไม่เพียงพอต่อการกอบกู้สถานการณ์ได้

นี่จึงเป็นเหตุให้อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส ที่อยู่ใน Sentiment ของตลาดลักซัวรีเช่นเดียวกัน ต้องพิจารณาถึงความร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน หลังจาก 10 ปีก่อนหน้านั้นหลากหลายแบรนด์มีการพูดถึงแนวคิดการควบรวมกิจการมาตลอด กระทั่ง Covid -19 ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้สถานการณ์สุกงอมมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้ตลาดค้าปลีกนาฬิกาหรูสามารถอยู่รอด และเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการของแต่ละแบรนด์ย่อมมีเงื่อนไขที่จำเป็นอยู่เช่นกัน

 

กระบวนการผลิต

การควบรวมบริษัทที่มีห่วงโซ่อุปทานคล้ายกัน ทั้งในแง่ของวัสดุ โครงสร้างต้นทุน และบรรดาซัพพลายเออร์จะดำเนินการได้ง่ายกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์นาฬิการะดับกลาง ที่สร้างเอกลักษณ์แตกต่างผ่านรูปแบบของงานดีไซน์และวัสดุแปลกใหม่ โอกาสในการควบรวมของแบรนด์ระดับกลางจึงเป็นงานง่าย และไม่ซับซ้อนมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาแบรนด์ใหญ่ๆ ซึ่งมีเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตเฉพาะทางเป็นของตัวเอง ที่เกิดจากประสบการณ์ของแบรนด์ และเม็ดเงินในการลงทุนคิดค้นวิจัย

 

ช่องทางและกลยุทธ์การจัดจำหน่าย

ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่บริษัทซึ่งมีรูปแบบการจัดจำหน่ายต่างกันจะหลอมรวมเข้ากันได้ เช่นตัวอย่าง ระหว่างช่องทางออนไลน์กับร้านค้าตัวแทนจำหน่ายอย่างถูกต้อง ย่อมมีปัญหาในการดำเนินงานและการจัดเก็บฐานลูกค้าที่ต่างกัน (ยังไม่ต้องพูดถึงกลยุทธ์สินค้าคงคลัง อัตรากำไร และรูปแบบรายได้) โดยก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสมีการแยกส่วนเรื่องนี้อย่างชัดเจน ทำให้การควบรวมบริษัทเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโรคผลักดันให้ช่องทางการจัดหน่ายเข้าสู่รูปแบบออนไลน์มากขึ้น (และจะไม่หายไปไหน) ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่สามารถสร้างช่องทางออนไลน์ของตัวเองได้ง่ายและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า จึงเป็นโอกาสที่เหล่าเทียร์บนทั้งหลาย จะดึงเแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาร่วม เพื่อใช้ทดลองกับตลาดออนไลน์ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้ฐานตัวแทนจำหน่ายของตัวเองเสียไป

 

การลดกำไรเป้าหมาย

ถึงแม้เป็นตลาดค้าปลีกในโลกของความลักชัวรี วินาทีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่างผลประกอบการ 12 เดือนล่าสุด ของ Tiffany & Co. วัดจากอัตรากำไร EBITDA (กำไรจากการดำเนินงานที่อยู่ในรูปของเงินสดจริง) เท่ากับ 17% เปรียบเทียบกับ Apple (30%) Google (29%) และ Facebook (45%) ด้วยต้นทุนและค่าการตลาดที่สูงกว่าในหลายภาคส่วน เมื่อการเติบโตด้านผลกำไรลดลง ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ เช่น LVMH ต้องมองหาบริษัทที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง แต่ขาดศักยภาพด้านการตลาดจากผลกระทบของวิกฤตโรคระบาด เพื่อเข้าซื้อกิจการ และตลาดค้าปลีกของนาฬิกาหรูเอง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แต่ละแบรนด์ต้องลดผลกำไรและเป้าหมายลงให้ตรงกัน หากต้องการควบรวมกิจการ

 

แบรนด์ใหญ่ย่อมมีโอกาสมากกว่า

ดูเหมือนว่ากลยุทธ์การค้าต่างๆ ที่ผ่านมาจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป แบรนด์ที่มีกระแสเงินสดคล่องสะพัด ต่างพากันมองหาหนทางในการควบรวมบริษัท ที่จะทำให้พวกเขาสามารถอยู่รอดได้ไม่ว่าโลกนาฬิกาจะเป็นอย่างไร ไปจนถึงปี 2022 นั่นคือการเสี่ยงทดลองกับตลาดใหม่ๆ ดูบ้าง (ไม่ใช่แต่จีนเท่านั้น) แม้ในระยะสั้นมันอาจสร้างผลกำไรน้อยกว่าที่เคยเป็น แต่ในระยะยาวส่งผลดีมากกว่า ทั้งในแง่การผลิตและช่องทางการจำหน่ายที่มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเพิ่มผลกำไร และช่วยให้แบรนด์ใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

 

คราวนี้มารอลุ้นกันต่อว่า ต่อจากนี้ไปจะมีข่าวคราวเบิ้มๆ เกี่ยวกับการควบรวมนาฬิกาสวิสดังๆ แบรนด์ไหนเกิดขึ้นกันบ้าง ซึ่งแน่นอนที่สุด ถ้ามีเมื่อไร Crazy Dial รับประกัน พร้อมนำมาเสนอจัดให้แบบเต็มๆ เหมือนเช่นเคย


ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของแวดวงนาฬิกาได้ที่นี่…

Crazy Dial – The Watch Community

Line : @crazydial

Instagram : crazydial.official

Facebook : crazydial.official

Website : www.crazy-dial.com

Youtube : Crazy Dial Official

Tiktok : crazydial